TNN หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วย 81 ปี หลอดลมอักเสบจากเชื้อ RSV ทำโรคหอบกำเริบ

TNN

สังคม

หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วย 81 ปี หลอดลมอักเสบจากเชื้อ RSV ทำโรคหอบกำเริบ

หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วย 81 ปี หลอดลมอักเสบจากเชื้อ RSV ทำโรคหอบกำเริบ

หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วยหญิงอายุ 81 ปี หลอดลมอักเสบจากติดเชื้อไวรัส RSV ทำให้โรคหอบหืดซึ่งหายมานานแล้วกลับมากำเริบใหม่

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ โรค RSV


โดยระบุว่า  ผู้ป่วยหญิงอายุ 81 ปี ไอมาก เสมหะสีขาว 2 วัน ไอทั้งกลางวัน กลางคืน หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี๊ดๆ ไม่มีไข้ ไม่มีน้ำมูก ไม่เจ็บคอ ไม่สูบบุหรี่ เคยเป็นโรคหอบหืดเมื่อ 20 ปีก่อน หายนานแล้ว เป็นโรคความดัน ไขมัน คงติดเชื้อจากลูกชายอายุ 56 ปี เพราะมีอาการก่อนหน้านี้คล้ายกันมาก มาเข้ารพ.วันที่ 22 กค. 2567 ตรวจร่างกาย ไม่มีไข้ ฟังปอดมีเสียงวี๊ดทั้ง 2 ข้าง เอกซเรย์ปอดปกติ แยงจมูกส่งตรวจหาไวรัส พบเชื้อไวรัส RSV


วินิจฉัย: หลอดลมอักเสบจากติดเชื้อไวรัส RSV ทำให้โรคหอบหืดซึ่งหายมานานแล้วกลับมากำเริบใหม่


ทั้งนี้ ไม่มียาต้านไวรัสรักษา RSV ให้การรักษาตามอาการ ให้ยาพ่นขยายหลอดลม ยาสเตียรอยด์ขนาดต่ำเพื่อลดการอักเสบ ยา singulair อาการดีขึ้น นอนรักษาในโรงพยาบาล 3 วัน ให้กลับบ้านได้

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูระบาดของเชื้อ RSV คือ เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปถึงเดือนพฤศจิกายน เรากำลังจะเห็นโรค RSV เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 


ปีนี้เป็นปีแรกที่วัคซีนป้องกัน  RSV เข้าประเทศไทย ผู้สูงอายุ 75 ปีขึ้นไปทุกคนที่สามารถจ่ายเงินเองได้ ควรรับวัคซีน RSV 1 เข็ม สำหรับคนอายุ 60 -74 ปี ให้ฉีดเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไตเรื้อรัง โรคอ้วน โรคภูมิคุ้มกันต่ำ



รู้จักไวรัส RSV


ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว

การติดต่อของ RSV


การติดต่อของเชื้อ RSV 


สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส ซึ่งหากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วง 2 – 4 วันแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่อการดำเนินโรคมีมากขึ้นส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบตามมา ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ในบางรายเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอมาก ๆ 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่ต้องพึงระวัง คือ หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing) รับประทานอาหารหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว เพราะผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้สูง


ที่มา หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC / โรงพยาบาลกรุงเทพ

ข่าวแนะนำ