รู้หลักอพยพหนีไฟไหม้ลดสำลักควัน-ไฟคลอก
เพลิงไหม้ภัยใกล้ตัว แนะรู้หลักอพยพหนีไฟไหม้ ลดการสำลักควันและอันตรายจากไฟคลอก
ภัยใกล้ตัวที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง คือเหตุไฟไหม้ ล่าสุดเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในชุมชนตรอกโพธิ์ ย่านเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 6 ก.ค.2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.กระทรวงมหาดไทย มีข้อแนะนำและวิธีปฏิบัติในการอพยพหนี้ไฟ ลดการสำลักควันและลดอันตรายจากไฟคลอกอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
อันดับแรกมารู้จักลักษณะควันไฟ จะลดอันตรายได้
->หากเป็นควันไฟพุ่งออกมาจากช่องประตูและหน้าต่างอย่างรวดเร็ว แสดงว่า ต้นเพลิงอยู่ใกล้บริเวณนั้น
->ควันสีดำและเคลื่อนที่เร็ว แสดงว่าตัวเราอยู่ใกล้ต้นเพลิง
->ควันสีจางและเคลื่อนที่ช้าๆ แสดงว่าอยู่ไกลจากต้นเพลิง
->ควันสีดำหนาแน่น อาจเกิดจากควันที่ลุกติดไฟกลายเป็นเปลวไฟขนาดใหญ่
ระยะเวลาการกระจายของเปลวไฟ
->ระยะเวลา 1 นาที ไฟจะเริ่มกระจายไปทั่วห้อง
->ระยะเวลา 2-4 นาที ควันไฟและเปลวไฟ จะเริ่มกระจายเป็นวงกว้าง
->ระยะเวลา 5 นาที ควันไฟ ความร้อนและก๊าซพิษ จะทำให้ผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้เสียชีวิตได้
***ระยะเวลาอพยพหนีไฟไหม้ที่ปลอดภัย จะอยู่ในช่วง 2 นาทีแรกนับตั้งแต่เกิดไฟไหม้
ข้อมควรรู้วิธีอพยพหนีไฟให้ปลอดภัย
->หากเพลิงไหม้เล็กน้อย ใช้ถังดับเพลิงเคมีฉีดพ่นไปยังต้นเพลิง เพื่อดับไฟไม่ให้ไฟลุกลาม
->เพลิงไหม้รุนแรง ให้ตั้งสติ ตะโกนบอก หรือ กดสัญญาณเตือนแจ้งให้ผู้อื่นทราบ พร้อมรีบอพยพออกจากพื้นที่เพลิงไหม้และโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง
->ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟซึ่งอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้
->หมอบคลานต่ำหรือย่อตัวใกล้ระดับพื้น เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์จะอยู่เหนือระดับพื้นไม่เกิน 1 ฟุต
->กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้า ห้ามวิ่งเด็ดขาด เพราะจะทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว ให้ถอดเสื้อผ้าออกหรือนอนกลิ้งตัวไปมากับพื้นเพื่อดับไฟ
->กรณีติดอยู่ในพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ ให้โทรแจ้งหน่วยดับเพลิง บอกตำแหน่งที่ติดอยู่ และส่งสัญญาณให้ผู้อื่นทราบ เช่น เป่านกหวีด ใช้ไฟฉาย โบกผ้า เป็นต้น
->การอพยพต้องอพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย ซึ่งอยู่ใกล้ประตูหรือทางออกฉุกเฉินมากที่สุด
->ใช้บันไดหนีไฟ ออกจากอาคารเพราะมีช่องระบายอากาศ จะช่วยลดการสูดดมควันไฟ
->ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพ เพราะไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างภายในลิฟต์และขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้
สำหรับวิธีปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้ระดับชั้นผิวหนัง
->นำผ้าชุบน้ำสะอาดมาประคบบริเวณบาดแผน จากนั้นใช้ยาสำหรับรักษาแผลไฟไหม้ทาบริเวณแผลและนำผ้าสะอาดมาปิดแผล
->ห้ามใช้น้ำปลา หรือ ยาสีฟันทาบริเวณแผลไฟไหม้
->ห้ามเจาะบริเวณที่มีแผลพุพอง เพราะจะทำให้แผลติดเชื้อได้
ข้อมูล : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.กระทรวงมหาดไทย
ภาพ : TNN,ทีมกราฟิกTNN
ข่าวแนะนำ