รู้จัก “ปะการังเรืองแสง” กลไกสู้การฟอกขาว อย่ารบกวน-เข้าใกล้
นักวิชาการทางทะเลอธิบายปะการังเรืองแสงคือส่วนหนึ่งของปะการังฟอกขาว อยู่ในภาวะอ่อนแอ เตือนนักท่องเที่ยวใช้ความระมัดระวังในการเข้าใกล้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat หลังพบข้อมูลชักชวนไปดูปะการังเรืองแสง โดยระบุว่า
"บังเอิญเห็นสายเที่ยวบางแห่งบอกว่ามาดูปะการังเรืองแสงกันเถอะ" จึงอยากอธิบายให้เข้าใจว่า ปะการังเรืองแสงหรือเปลี่ยนเป็นสีแปลก ๆ เป็นส่วนหนึ่งของปะการังฟอกขาว
ปะการังฟอกขาวเกิดเมื่อน้ำร้อนผิดปกติ บวกกับปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ปะการังขับสาหร่ายจิ๋วออกจากเนื้อเยื่อ เมื่อสาหร่ายออกไป เนื้อปะการังใส แสงส่องผ่านสะท้อนโครงร่างหินปูนข้างในเห็นเป็นสีขาว แต่มีปะการังบางก้อน พยายามสู้ด้วยการสร้างชั้นสีขึ้นมา ช่วยกรองแสงให้เบาลงเพื่อส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อด้านในให้น้อยลง ปะการังพวกนี้จะพยายามยื้อให้นานจนเมื่อเวลาผ่านไปปัจจัยเป็นปกติ สาหร่ายจะกลับเข้ามาได้ง่ายขึ้น
งานวิจัยระบุว่า ปะการังบางชนิดทำแบบนี้ไม่ได้ หรือแม้แต่ชนิดเดียวกัน บางก้อนก็เรืองแสง บางก้อนก็สีขาว บางก้อนก็ซีด เป็นลักษณะทางพันธุกรรมและอื่น ๆ ที่ยังตอบได้ไม่แน่ชัด แต่ปะการังเรืองแสงดูเหมือนจะทนกว่าปะการังฟอกขาวล้วน แต่ที่อยากบอกคือปะการังเรืองแสงก็เป็นส่วนหนึ่งของการฟอกขาว ปะการังกำลังป่วย กำลังต่อสู้กับความตาย ไม่ควรไปมุงดู หากจะไปเที่ยวก็ต้องระวังให้มากที่สุด และไม่ควรนำปะการังเรืองแสงมาเป็นตัวชักจูงให้คนไปดู
ที่มาข้อมูลและภาพ : เฟซบุ๊ก ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ Thon Thamrongnawasawat
ข่าวแนะนำ