TNN สรส. - สสรท. หนุนขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิต

TNN

สังคม

สรส. - สสรท. หนุนขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิต

สรส. - สสรท. หนุนขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิต

สรส. - สสรท. ประสานเสียงหนุนขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน คนส่วนใหญ่ของประเทศ

วันนี้ (13 พ.ค. 2567) เมื่อเวลา 08.30 น.  ที่กระทรวงแรงงาน กลุ่มเครือข่ายภาคี สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายมานพ เกื้อรัตน์ สมาพันธ์ เลขาธิการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เข้าร่วมสนับสนุนนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ


ทั้งนี้ทุกภาคส่วนต่างทราบกันดีว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีปัญหาต้องพึ่งพาต่างประเทศเป็นด้านหลักทั้งเรื่อง

การค้า การส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว เหตุเพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศขาดรายได้ ไร้อาชีพ ขาดหลักประกันในการดำเนินชีวิตยากจน มีหนี้สินครัวเรือนสูงถึง ร้อยละ 93 ต่อผลิตภัณฑ์มวสรวมในประเทศ (GDP) 


ขบวนการแรงงานก็พยายามเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาล หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้างให้ไปไกลกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ คือ ค่าจ้างที่เป็นธรรมตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ คือ คำจ้างขั้นต่ำที่ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ และให้เท่ากันทั้งประเทศ ในท่ามกลางข้อถกเถียงที่ยาวนาน และสังคมส่วนใหญ่ทั้งประชาชนทั่วไป พี่น้องสื่อมวลชน แม้กระทั่งพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคที่เห็นด้วย


จึงนำไปกำหนดเป็นนโยบายในการหาเสียง อีกทั้งงานวิจัยจำนวนมากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศก็สนับสนุน เพราะการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างนั้นเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน


ทั้งนี้ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) เรียกร้อง ให้มีการปรับค่าแรง 400 ให้เท่ากันทั่วประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เนื่องจากราคาสินค้าในชีวิตประจำวันที่เท่ากันทั่วประเทศ ไม่ว่าจะชนบท หรือในตัวเมือง เพราะฉะนั้นแล้วค่าแรงก็จำเป็นต้องมีความเท่าเทียมกัน เพราะการที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำ400บาทเฉพาะในบางพื้นที่นั้นจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และทำให้แรงงานจะไปกระจุกอยู่แค่พื้นที่ที่มีการขึ้นค่าแรง พร้อมเน้นย้ำว่าขณะนี้ สิ่งที่ประชาชนกลุ่มแรงงานต้องการมากที่สุดคือต้องการค่าจ้าง 400 บาทอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ


นายสาวิทย์ ระบุว่าที่เดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้ก็เพราะต้องการส่งเสียงไปถึงกลุ่มผู้คัดค้าน พร้อมเปิดเผยว่าเข้าใจว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่คัดค้านในเรื่องนี้อาจจะต้องการปกป้องผลประโยชน์ ซึ่งตนเองก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลและเข้าใจได้


อย่างไรก็ตาม นายสาวิทย์ เชื่อว่าการปรับขึ้นค่าแรงจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนทำงานดีขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในประเทศที่มีมากถึง 41 ล้านคนที่เป็นกลุ่มแรงงาน โดยคนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่เสียภาษีให้กับรัฐมากที่สุด และสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศมากที่สุด 


ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าการขึ้นค่าแรง400พร้อมกันทั่วประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย แต่จะต้องทำให้ได้ และได้มีการหารือกับทีมแล้วว่าควรถึงเวลาสักทีที่จะต้องขึ้นค่าแรงให้กับพี่น้องประชาชน โดยเห็นว่าการขึ้นค่าแรงในครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกสำหรับการที่จะขึ้นค่าแรงต่อๆไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่กังวลที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องของราคาสินค้า และอยากจะวอนท่านนายกฯ และกระทรวงพานิชย์ให้มีการควบคุมราคาสินค้า ทั้งนี้กระทรวงแรงงานเองก็จะหารือกับฝั่งนายจ้างทุกๆกลุ่ม และร่วมหาทางออกที่ดีที่สุด ที่เป็นผลดีทั้งฝั่งผู้ประกอบการและกลุ่มแรงงาน


ภาพจาก: TNN ONLINE 

ข่าวแนะนำ