ครั้งแรกในไทย! กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าฯ แถลงพบ "ผึ้งหลวงหิมาลัย"
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าฯ พบ "ผึ้งหลวงหิมาลัย" ครั้งแรกในประเทศไทย ที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่
นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมทีมนักวิจัย แถลงความสำเร็จของการค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยครั้งแรกในประเทศไทย โดยพบทำรังอยู่ชะงอนผา บนเทือกเขาสูงชัน อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่
รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า เมื่อปี 2565 เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ได้เข้าไปสำรวจ และพบตัวผึ้งซึ่งในตอนนั้นคิดว่าเป็นผึ้งหลวงที่พบได้ทั่วไป แต่เมื่อสังเกตก็เห็นว่าลักษณะของผึ้งไม่เหมือนกับผึ้งหลวง จึงเก็บตัวอย่างมาศึกษา ก่อนยืนยันได้ว่าผึ้งที่พบคือผึ้งหลวงหิมาลัย ซึ่งผึ้งสายพันธุ์นี้ จะอาศัยอยู่ภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 1,000-4,500 เมตร และอยู่ในอุณหภูมิต่ำ ไม่เกิน 25 องศา การค้นพบผึ้งหลวงครั้งนี้ เป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่สูงภายในประเทศไทย นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังได้ศึกษาถึงประโยชน์ของน้ำผึ้ง พบว่า ผึ้งหลวงหิมาลัยให้น้ำผึ้งที่มีคุณสมบัติผ่อนคลายความเครียดได้
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกีฏวิทยาฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ซึ่งได้มาร่วมเป็นทีมนักวิจัยในการสำรวจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วผึ้งหลวงหิมาลัย พบกระจายตัวอยู่ด้านตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย รอยต่อติดกับ ปากีสถาน และทางตอนเหนือ ของเวียดนาม รวมถึงเมียนมา ยังไม่เคยพบในประเทศไทย ซึ่งการทำรังกว่าร้อยละ 95 จะอยู่ชะง่อนผา เป็นแมลงสังคมพืชหนาว ผสมพันธุ์เกสรทำหน้าที่ช่วยขยายพันธุ์พืช
ดังนั้นการพบผึ้งหลวงหิมาลัยจึงเป็นตัวบ่งชี้สำคัญมาก ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณภูมิโลกสูงขึ้น ผึ้งจะอาศัยอยู่ในผืนป่าไทยได้หรือไม่ หรือจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน หรือหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1-2 องศา ทุกๆ 10 ปี อาจเป็นไปได้ที่จะไม่ได้พบเจอผึ้งหลวงหิมาลัยอีก จึงต้องศึกษาพื้นที่ซึ่งจะเอื้อต่อการอยู่อาศัย ปัจจัยที่ทำให้ผึ้งหลวงหิมาลัยมีชีวิตอยู่ได้
ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าไปรักษาสมดุลระบบนิเวศทางธรรมชาติ ซึ่งหากระบบนิเวศดี อาจได้พบผึ้งหลวงหิมาลัยบนดอยหลวงเชียงดาว ไปจนถึงตามดอยสูงภาคอีสานที่ติดกับเทือกเขาหลวงพระบาง
ทั้งนี้ จากการพบประชากรผึ้งหลวงหิมาลัยในไทย และทั่วโลกประชากรลดน้อยลงเรื่อยๆ กรมอุทยานจะสำรวจประชากรทั้งหมดอย่างละเอียดว่ามีกี่รัง กี่ตัว เพื่อควบคุมหรือใช้เป็นฐานข้อมูลพิจารณาอนุญาตให้ประชาชนเก็บรังผึ้งหลวงหิมาลัยไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ซึ่งหากยึดตามกฎหมายแม้ผึ้งหลวงหิมาลัย ไม่ได้พบกระจายอยู่ทั่วประเทศไทยหรือเป็นแมลงประจำถิ่น แต่หากทำรังอยู่ในเขตอุทยานฯ เขตป่าอนุรักษ์ ถือว่ามี พรบ.สัตว์ป่าคุ้มครองที่ห้ามนำออกจากพื้นที่อยู่แล้ว
ข่าวแนะนำ