ก่อนจะกลัว “แคดเมียม” ชาวไทยเคยกลัว “แทนทาลัม” จน “ก่อจลาจล” มาก่อน!
Op-ed by วิศรุต หล่าสกุล เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ราว พ.ศ. 2529 เพราะได้มี “ตะกรันแร่” ชนิดหนึ่ง ที่สามารถสร้าง “การจลาจล” ให้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย
ในเวลานี้ ประเทศไทยต่างเป็นกังวลในเรื่อง “แคดเมียม” กากแร่อันตรายที่เป็นสารก่อมะเร็ง และอยู่กับร่างกายของมนุษย์ได้นานถึง 30 ปี
แน่นอน ได้มีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู ทั้งในความจริงและโซเซียล แต่ตรงนี้ ไม่ได้ครึ่งกว่าเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ราว พ.ศ. 2529 เพราะได้มี “ตะกรันแร่” ชนิดหนึ่ง ที่สามารถสร้าง “การจลาจล” ให้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเลยทีเดียว
โดยแร่นั้นมีชื่อว่า “แทนทาลัม” ซึ่งแฝงตัวอยู่ในตะกรันแร่ “ดีบุก” ที่พบเจอได้ในจังหวัดภูเก็ต
ร่วมย้อนไปหวนอดีตพินิจเรื่องดังกล่าว ดังต่อไปนี้
ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ
หากกล่าวถึงจังหวัดภูเก็ต แน่นอน ตอนนี้ต้องนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยว ชายทะเล และปาร์ตี้ หากแต่ก่อนหน้านั้น เกาะแห่งนี้ มีรายได้หลักมาจาก การทำเหมืองดีบุกและขุดแร่ต่าง ๆ
โดยการขุดเหมืองนั้น ส่วนมากแล้ว จะทำให้เกิด “ตะกรันแร่” เป็นจำนวนมาก และ “กาก” ทางการขุดเหมืองเหล่านี้ ก็จะนำไปฝังกลบ หรือนำไปทิ้ง
แน่นอน เมื่อดีบุกเริ่มหายาก และเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ความสำคัญของดีบุกเริ่มลดน้อยถอยลง และภูเก็ตเอง ก็ไม่สามารถที่จะพึ่งพิงการส่งออกดีบุกอย่างเดียวได้อีกต่อไป
แต่เดชะบุญ ที่มีการตรวจสอบภายหลังว่า ในตะกรันแร่นั้น มีแร่ “แทนทาลัม” เป็นส่วนประกอบ!
โดยแทนทาลัมนี้ เป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับ “ชิป” ในเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ อาทิ ของเล่น หรือคอมพิวเตอร์ เรื่อยไปจนถึงชิ้นส่วนอวกาศยาน
และมีแนวโน้มที่จะมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาด
ตรงนี้ จึงเปรียบเสมือน “ฟ้าประทาน” แก่ภูเก็ต ในการที่จะ “หาประโยขน์” จากกากเดนสินแร่ตรงนี้ได้
บริษัทไทยแลนด์แทนทาลัมจึงอุบัติขึ้นจากกลุ่มทุนต่างชาติ ร่วมกับทุนท้องถิ่น เพื่อทำการผลิตแร่แทนทาลัมในจังหวัดภูเก็ตได้รับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และได้รับใบอนุญาตให้สร้างโรงงานตั้งแต่ปี 2526 โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการในวันที่ 15 สิงหาคม 2529 นับเป็นการก่อตั้งบริษัทผลิตแทนทาลัมขึ้นแห่งแรกในเอเชีย
กระนั้น เมื่อกล่าวถึงอะไรที่เป็นแร่ “ความกังวล” ที่ตามมา มักเป็นเรื่องของ “กัมมันตภาพรังสี” ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ด้วยเหตุการณ์ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด” สด ๆ ร้อน ๆ ไหนจะเรื่อง “โรคภัยไข้เจ็บ” ด้วยอาการแปลก ๆ ที่จะตามมา
ความไม่พอใจเริ่มลุกลามมากยิ่งขึ้น เสียจนกลายเป็นการ “ชุมนุมประท้วง” ขับไล่โรงงานของไทยแลนด์แทนทาลัม ให้ออกไปจากภูเก็ตเสีย
เรื่องราวลุกลามใหญ่โต เสียจนมีการ “จุดไฟเผา” ทำลายข้าวของ ขว้างปาสิ่งของ ทำร้ายร่างกายเจ้าของโรงงาน กันเลยทีเดียว
จนในท้ายที่สุด โรงงานแทนทาลัม ก็ไม่ได้ผุดได้เกิดในภูเก็ต อีกเลย
การพัฒนาและอันตรายต่อมนุษย์
แน่นอน สิ่งข้างต้นสะท้อน “การตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม” ของชาวไทย ที่เล็งเห็นว่า การปล่อยให้มีโรงงานสินแร่มาก ๆ ย่อมไม่เป็นผลดีแก่มาตุภูมิ ไม่ว่าทางใดทั้งสิ้น
เพราะนับเป็น “เรื่องใหญ่มาก” ที่ผู้คนจะ “หาญกล้า” ในประเด็นสิ่งแวดล้อมถึงเพียงนี้
การกระทำเช่นนี้ ส่งผลระยะยาวให้การคิดหนักที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับแร่ในภูเก็ต จนท้ายที่สุด ภูเก็ตก็เปลี่ยนจากเมืองอุตสาหกรรม การเป็นเมืองท่องเที่ยว หาเงินเข้าจังหวัดจากพวกต่างชาติทั้งสิ้น
แต่อย่าลืมว่า “พลังแห่งการบริโภค” โดยเฉพาะ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเรื่องที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญตลอด ไม่ว่าจะบ้านป่าเมืองเถื่อนขนาดไหน ความเจริญที่ว่าด้วยการบริโภคสินค้าและบริการก็ไปถึง
อย่างน้อย ๆ ก็ไอโฟนเครื่องหนึ่ง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนรุ่นใหม่ทุกปี ทั้งที่ยังผ่อนไม่หมด
แน่นอน การบริโภคสินค้าประเภทนี้ “ทำลายสิ่งแวดล้อม” ในตนเอง ยิ่งบริโภคมาก ยิ่งต้องการสินแร่มาก ก็ยิ่งทำลายสิ่งแวดล้อมมาก
เฉกเช่นการเปรียบเปรยที่ว่า “ปลูกต้นไม้ 1 ต้น เครื่องขุดเจาะขุดเพิ่ม 1 กิโลเมตร เพื่อหาสินแร่” ก็ไม่ปาน
Op-ed by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
* บทความ Interconnecting the environment with economic development of a nation
* http://wiki.kpi.ac.th/index.php
* https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000061398
* https://www.komchadluek.net/today-in-history/284126
ข่าวแนะนำ
-
"กรดไหลย้อน" ภัยสุขภาพไม่ควรมองข้าม
- 14:18 น.