สปสช. เพิ่มสิทธิ ‘มีบุตรยาก’ ให้ยากระตุ้นไข่ - เด็กหลอดแก้ว
สปสช. เพิ่มสิทธิรักษา ‘รักษามีบุตรยาก’ ตั้งแต่ปรึกษา ให้ยากระตุ้นไข่ ฉีดเชื้อ และเด็กหลอดแก้ว สำหรับหญิงไทยสิทธิบัตรทอง อายุ 30 – 40 ปี มีทะเบียนสมรส
วันนี้ ( 25 มี.ค. 67 )นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เห็นชอบเพิ่มสิทธิการรักษาภาวะมีบุตรยากในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท เพื่อแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย โดยปี 2565 จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอยู่ที่ 485,085 คน ขณะที่อัตราเจริญพันธุ์เหลือเพียง 1.08 โดยกลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้หญิงไทยสิทธิบัตรทอง อายุระหว่าง 30 – 40 ปี มีคู่สมรสและจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เป็นผู้มีภาวะมีบุตรยากและต้องการมีบุตร เบื้องต้นคาดว่ามีจำนวนประมาณ 4,150 คน
สำหรับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามแนวทางเวชปฏิบัติภาวะมีบุตรยากของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566 โดยระดับที่ 1 ให้คำปรึกษาแนะนําปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถให้บริการโดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
ระดับที่ 2 ให้ยากระตุ้นไข่และยาเหนี่ยวนําการตกไข่ และระดับที่ 3 ทำเด็กหลอดแก้ว โดยวิธีการย้ายตัวอ่อน 1-2 ครั้ง ให้บริการโดยสูตินรีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โดยปัจจุบันมีหน่วยบริการรัฐที่ให้บริการ จำนวน 17 แห่ง ในจำนวนนี้เป็น รพ.สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3 แห่ง
ด้านนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การรักษาภาวะมีบุตรยากจะเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและขับเคลื่อนวาระแห่งชาติในการเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทย ซึ่งในอดีตสิทธิประโยชน์นี้อาจไม่จำเป็น แต่ด้วยปัจจุบันที่เด็กเกิดใหม่มีจำนวนลดลง สปสช. จึงร่วมสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงการรักษาภาวะมีบุตรยากในกลุ่มที่มีความพร้อมและต้องการมีบุตร โดยให้นำร่อง 3 ปี และติดตามประเมินผลอย่างรอบด้านเพื่อตัดสินใจขยายผลต่อไป
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ