กทม. เฉลยสาเหตุ ‘กลิ่นไหม้’ ช่วงกลางดึกหลายพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดจากอะไร
กทม. เฉลยสาเหตุ ‘กลิ่นไหม้’ ช่วงกลางดึกในหลายพื้นที่กรุงเทพฯ - ปริมณฑล เกิดจากอะไร หลัง #กลิ่นไหม้ ติดเทรนด์ X
จากกรณีเมื่อคืนที่ผ่านมาในโลกโซเชียล X แฮชแท็ก ‘กลิ่นไหม้’ ติดเทรนด์อันดับ 4 หลังประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้กลิ่นเหม็นไหม้ พร้อมกับตั้งคำถามว่า เกิดจากการที่มีใครเผาอะไรหรือไม่ เมื่อตรวจเช็กคุณภาพอากาศ เว็บไซต์ IQAir พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งขึ้นสูงระดับสีแดงในหลายพื้นที่กรุงเทพฯ
ล่าสุด นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกมาชี้แจงสาเหตุของค่าฝุ่นPM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นกลางดึก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของกลิ่นไหม้ที่ประชาชนในหลายพื้นที่ ดังนี้
1. ทิศทางลมวันที่ 20 มี.ค. 67 เป็นทิศตะวันออก ซึ่งต่างจากวันอื่นๆ ช่วงนี้ที่มาจากอ่าวไทย ส่วนจุดเผาในช่วง 24 ชม. ที่ผ่านมาพบที่ปริมณฑลหลายจุด
2. ระยะนี้สภาพอากาศแปรปรวน มีพายุฤดูร้อน ประกอบกับมีความกดอากาศสูงผ่านทางอีสานมาเมื่อวาน ส่งผลให้ความสูงของชั้นบรรยากาศผสม (Mixing Height) ลดต่ำลง ฝุ่นละอองเกิดการสะสมตัวเพิ่มมากขึ้น
3. ความชื้นในบรรยากาศทำให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 ทุติยภูมิ (Secondary PM 2.5) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชนิดที่เกิดจากสารประกอบไนโตรเจนและแอมโมเนียจะเกิดปฏิกิริยาได้ดีในสภาวะที่มีความชื้นสูง
4. รูปแบบฝุ่นทุติยภูมิ (Secondary PM 2.5) เกิดจากก๊าซบางชนิดที่ลอยอยู่ในอากาศ เช่น ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำปฏิกิริยากับแสงแดด กลายเป็นฝุ่นลอยอยู่ในอากาศ มักเกิดในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.
ทั้งนี้ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน เช่น การเผาไหม้ถ่านหินหรือน้ำมัน ในโรงไฟฟ้า โรงถลุงโลหะ และโรงกลั่นน้ำมัน ส่วนออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงภายใต้แรงดันอากาศที่สูง ทำให้เกิดการรวมตัวกันของออกชิเจนและไนโตรเจนเป็นไนตริคออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นก๊าซที่ไม่เป็นอันตราย แต่เมื่อขึ้นสู่บรรยากาศ NO จะถูกออกซิไดซ์ เป็นก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งมีสีเหลืองอมน้ำตาล เป็นสารพิษที่ระคายเคืองตา แหล่งกำเนิดหลักของออกไซด์ของไนโตรเจน เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์ การเผาไหม้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ หรือกระบวนการอุตสาหกรรมในโรงงานผลิตปุ๋ยและวัตถุระเบิด
สอดคล้องกับที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เมื่อคืนนี้ (20 มี.ค.) เวลา 23.00 น. ว่า พบ 47 เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศ หลายจังหวัดในภาคกลางมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง เช่นกัน ทั้งนนทบุรี, ปทุมธานี, นครนายก, สมุทรสาคร, นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา
ขณะที่อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่ากลิ่นเหม็นไหม้นั้น เกิดจากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล สภาพอากาศในวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ ช่วงกลางคืนจึงมีความชื้นสูงมากที่เกิดขึ้นในบรรยากาศ
ก่อนหน้านั้นอากาศร้อนปกคลุมกทม. มาหลายวันเมื่อมีความกดอากาศสูงหรือมวล อากาศเย็นพัดเข้าปะทะทำให้ฝนตกลงมา ค่อนข้างมาก การที่มวลอากาศเย็นพัดปก คลุมพื้นที่ทำให้อากาศปิดอัตราการระบายอากาศในแนวดิ่งเกิดได้น้อยและลมค่อนข้างนิ่ง มลพิษทางอากาศทั้งฝุ่น PM2.5 และอนุภาคของกำมะถัน คาร์บอนต่าง ๆ มีปริมาณมากมาจากรถยนต์ การเผาในที่โล่ง, โรงงานต่าง ๆ ที่เกิดตลอดวันในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จะลอยไปสะสมอยู่ในบรรยากาศใกล้ผิวโลก
เมื่อรวมกับก๊าซ O2ในอากาศ กลายเป็น SO3 (ก๊าซซัลเฟอร์ไตรออกไซด์) , CO2 (ก๊าซคาร์บนไดออก ไซด์) สะสมในบรรยากาศ เมื่ออากาศมีความชื้นสูงจึงทำปฎิกิยากับ SO3 และ CO2 กลายเป็น ‘กรดซัลฟิวริค’ และกรดคาร์บอนิค ซึ่งมีกลิ่นคล้ายกำมะถัน และกลิ่นไหม้ แต่ทั้งหมดไม่ได้มีอันตรายต่อสุขภาพเพราะเจือจางแล้ว หากความชื้นในอากาศน้อยลง และลมพัดแรงขึ้นเหตุการณ์นี้ก็จะหายไป
ข้อมูลจาก: Sonthi Kotchawat , กรุงเทพมหานคร
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ