แพ้ฝุ่น PM 2.5 อาการเป็นแบบไหน แสบจมูก - เลือดออกรักษาอย่างไร?
เช็กสัญญาณ ‘แพ้ฝุ่น PM 2.5’ อาการเป็นแบบไหน แสบจมูก เลือดออก ช่วงมลพิษสูงต้องปฐมพยาบาลอย่างไร?
วันนี้ (11 มี.ค. 67) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจจากการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพตนเอง ผ่านระบบ 4HealthPM2.5 พบประชาชนมีอาการ คัดจมูก แสบจมูก และแสบตาในช่วงฝุ่นละอองสูง สำหรับบางรายอาจมีเลือดกำเดาไหลได้ เนื่องจากการอักเสบบริเวณเส้นเลือดฝอย แนะประชาชนสำรวจ เพื่อป้องกันตนเอง และประเมินอาการตนเอง
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีอาการคัดจมูก แสบจมูก และแสบตา สำหรับบางรายอาจมีอาการเลือดกำเดาไหลในช่วงที่ฝุ่นละอองสูงได้ เนื่องจากฝุ่นละอองอาจเป็นปัจจัยที่ไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการอักเสบในเยื่อบุจมูกได้ เมื่อสัมผัสกับฝุ่นก็จะไปกระตุ้นให้โรคกำเริบ ทำให้เกิดการอักเสบ และทำให้เลือดฝอยบริเวณจมูกมีการอักเสบแตกง่าย จนกลายเป็นเลือดออกจมูก หรือเลือดกำเดาไหล
ทั้งนี้ มักจะเกิดในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีความไวต่อการเกิดโรค อย่างไรก็ดี อาจมีปัจจัยอื่นได้เช่นเดียวกัน เช่น โรคภูมิแพ้ ไข้หวัด เป็นต้นโดยจากข้อมูลการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพตนเองผ่านระบบ 4HealthPM2.5 พบว่า กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป 0.5% มีอาการเลือดกำเดาไหล และมักจะมีโรคประจำตัวร่วมด้วย
กรมอนามัย ขอแนะนำให้กลุ่มเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นและดูแลป้องกันตนเองเป็นพิเศษ หากมีอาการเลือดกำเดาไหลให้ก้มหน้าลง และให้ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ บีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่นเป็นเวลา 5-10 นาที โดยให้หายใจทางปากแทน เพื่อกดบริเวณด้านหน้าของผนังกั้นช่องจมูก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเลือดออกบ่อยที่สุด อาจใช้น้ำแข็ง หรือผ้าเย็นประคบบริเวณจมูกด้านนอก ถ้ามีเลือดไหลลงคอ ให้บ้วนใส่ภาชนะเพื่อประเมินจำนวนเลือด และป้องกันการอาเจียน ถ้าเลือดยังไหลไม่หยุดหรือมีอาการหน้ามืดเป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ ควรเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง หากต้องออกนอกอาคาร ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และรีบกลับเข้ามาในอาคารทันทีเมื่อเสร็จภารกิจ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือลดการก่อฝุ่นละออง โดยไม่เผาขยะ เผาการเกษตร ทั้งนี้ ประชาชนและกลุ่มเสี่ยงสามารถประเมินอาการตนเอง และรับคำแนะนำเบื้องต้นได้ที่ 4HealthPM2.5
ข้อมูลจาก: กรมอนามัย
ภาพจาก: รอยเตอร์