กรมอนามัยห่วงคนป่วยจากฝุ่น PM 2.5 แล้ว ร้อยละ 34 กว่าครึ่งเป็นเด็ก
กรมอนามัยห่วงแนวโน้มค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอีก 1 - 2 วัน ตั้งแต่ปีใหม่พบคนมีอาการจากสัมผัสฝุ่น ร้อยละ 34 เป็นเด็ก 5-14 ปี ถึง ร้อยละ 50 เกิดใน กทม.มากสุด
สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยวานนี้ (15 ก.พ.) พบค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานใน 55 จังหวัด โดยพบพื้นที่ ค่า PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ใน 14 พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และ 12 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, กาญจนบุรี, สระบุรี, อ่างทอง, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, สระแก้ว และสุโขทัย ซึ่งค่า PM 2.5 สูงสุดอยู่ที่ 105 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จังหวัดอ่างทอง และคาดการณ์ว่าสถานการณ์ PM 2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในอีก 1-2 วันข้างหน้า เนื่องจากสภาพอากาศปิดและทิศทางลมที่พัดฝุ่นละอองจากพื้นที่บริเวณโดยรอบ
ทั้งนี้แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพเชิงรุก โดยให้ประชาชนเฝ้าระวังอาการตนเองผ่านระบบ 4Health ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา พบว่าประชาชนมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัส PM 2.5 ถึง ร้อยละ 34 แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นอาการของระบบทางเดินหายใจ คือ คัดจมูก แสบจมูก และแสบตา ซึ่งเป็นอาการเฉียบพลันที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับสัมผัสฝุ่นละออง และยังพบว่าเด็กอายุระหว่าง 5-14 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงมีอาการจากการรับสัมผัส PM 2.5 มีอาการมากที่สุด ถึงร้อยละ 50 รวมทั้ง พื้นที่กรุงเทพมหานคร พบประชาชนมีอาการผิดปกติจากการรับสัมผัส PM 2.5 มากที่สุด โดยส่วนใหญ่เป็นอาการของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งสอดคล้องกับอาการของประชาชนที่เข้ามาประเมินทั่วประเทศ
จากการสำรวจพฤติกรรม ยังพบว่าประชาชน ยังมีการเผาขยะ กระดาษ ธูป ร้อยละ 21.2 ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ร้อยละ 20 และออกกำลังกายกลางแจ้ง ร้อยละ 16.9 ในช่วงนี้ หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นและมีขนาดที่เหมาะสมกับใบหน้า ลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกอาคาร งดออกกำลังกายกลางแจ้ง เปลี่ยนมาออกกำลังกายในอาคาร สำหรับเด็ก ผู้ที่เป็นโรคประจำตัว ภูมิแพ้ หอบหืด ควรเตรียมยาให้พร้อมใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบมาพบแพทย์ อยู่ในห้องปลอดฝุ่นที่บ้านหรือมารับบริการห้องปลอดฝุ่นได้ที่สถานบริการสาธารณสุข
ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สาเหตุเกิดจากไอเสียรถยนต์และรถบรรทุกมากที่สุด โดยเฉพาะรถน้ำมันดีเซล รองลงมาเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง รวมทั้งการเผาในพื้นที่โล่ง ประกอบกับสภาพอากาศปิด และลมต่ำ ทำให้ฝุ่น PM2.5 หมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ไม่สามารถระบายออกได้
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ