บทเพลงพุทธประวัติ อีกรูปแบบสื่อธรรมะ
“รูปได้แก่กายา เวทนาคือความรู้สึก ทั้งสุขทุกข์ ตื้นลึก รู้สึกในฉับพลัน สัญญาคือความจำได้หมายรู้นั้น สังขารคือการปรุงแต่ง สภาพที่เกิดกับใจ ส่วนวิญญาณนั้นก็คือใจ เรียกรวมทั่วไปคือขันธ์ห้าจงจำ”
บางส่วนของเนื้อเพลงพุทธประวัติ ตอน “โปรดปัญจวัคคีย์” เรื่องขันธ์ห้า โดยเพลิน พรหมแดน ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ. 2555 ซึ่ง ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขับร้องบนเวทีเสวนา “เทศน์ ทอล์ค” ในงานมหกรรมพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข ปี 2 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวรวิหาร (วัดโพธิ์) กรุงเทพมหานคร
เวทีเสวนาดังกล่าว ยังมีพระโสภณวชิราภรณ์ ดร. อัครมหาบัณฑิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม มาแลกเปลี่ยนมุมมองของสงฆ์ ร่วมกับศิลปินชั้นครูอย่างเพลิน พรหมแดน และผู้บริหารองค์กรที่สนับสนุนสื่อสร้างสรรค์ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ซึ่งมีความสนใจพุทธศาสนาศึกษาอย่างลึกซึ้ง
5 ปีแห่งการสร้างสรรค์บทเพลงพุธประวัติ
ครูเพลง เพลิน พรหมแดน เป็นผู้สร้างสรรค์บทเพลงชุดธรรมะพุทธประวัติ ถ่ายทอดเรื่องราวตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ไปจนถึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ที่ใช้เวลาสร้างสรรค์บทเพลงถึง 5 ปีเต็ม ทั้งแต่งเพลง ขับร้อง และเผยแพร่ มีทั้งส่วนที่เป็นเพลงร้องและเพลงพูดที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว เพื่อบรรยายพระพุทธประวัติ
เพลิน พรหมแดน เล่าถึงที่มาของเพลงธรรมะชุดนี้ว่า รับปากหลวงตามหาบัวว่าจะทำเพลงพุทธประวัติมานานแล้ว แต่ก็ยังเขียนเพลงไม่สำเร็จสักที จนกระทั่งคืนหนึ่งฝันว่าหลวงตามาเป่ากระหม่อมให้ ในฝันรู้สึกเย็นวาบไปทั้งตัว แล้วก็สะดุ้งตื่น เกิดแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงธรรมะ
แม้เพลงพุทธประวัติจะเป็นเรื่องยากในการถ่ายทอดเป็นบทเพลง แต่เขาก็ใช้ความทุ่มเท พยายาม และความศรัทธาในพุทธานุภาพของพระพุทธองค์เป็นแรงบันดาลใจ
“เวลาแต่งเพลงไม่ออกมือผมจะค้างเขียนต่อไปไม่ได้ เมื่อนั้นก็จะนึกถึงพระพุทธเจ้า ขอพรจากท่าน จนแต่งเพลงสำเร็จลุล่วง” เพลิน พรหมแดนในวัย 84 ปี เล่าถึงที่มาของแต่งเพลงพุทธประวัติ
แม้ในวัยนี้ความจดจำเนื้อเพลงจะถดถอยต้องคอยดูเนื้อร้องที่จดมาขึ้นเวที แต่เขาก็คว้าเนื้อเพลง “มาฆะปุรณมี” มาร้องโชว์ พร้อมกับเล่าที่มาว่าเป็นวันที่พระสาลีบุตรสำเร็จเป็นพระอรหันต์
“ในวันที่พระสาลีบุตรสิ้นสุดสมมติ เป็นพระอริยสูงสุดดุจตะวันไร้ม่านเมฆี เพ็ญแห่งเดือนสามมาฆะปุรณมี ยามเมื่อดวงสุรี คลี่คลายบ่ายคล้อยลอยลง สุริยายอแสง ปลายฟ้าแดงอาบแสงแพรวพรรณ ณที่พระเวฬุวัน เกิดอัศจรรย์เห็นอยู่หมู่สงฆ์...” ศิลปินแห่งชาติร้องเพลงโชว์สดๆ บนเวทีเรียกเสียงปรบมืออย่างเกรียวกราว
สื่อธรรมะ ต้องถึงแก่นของธรรมะ
ท่านเจ้าคุณโสภณ อธิบายว่าธรรมะกับการสื่อสารมีความเกี่ยวข้องกัน ท่านยกตัวอย่างวันมาฆะบูชา พระพุทธเจ้าตรัสให้โอวาทปาฏิโมกข์ ทรงตรัสถึงการสื่อสารหรือการใช้คำพูดที่ไม่กล่าวว่าร้ายผู้อื่น
“ถ้าเราว่ารู้ในร่างกายนี้ประกอบด้วยขันธ์ 5 ก็ต้องดูแลร่างกายเพื่อให้ดำรงชีพได้ และเราไม่สามารถอยู่ลำพัง ต้องอยู่อาศัยร่วมกับผู้อื่น จึงต้องเลือกใช้ธรรมะเพื่อสื่อสาร อย่างแรกคือต้องไม่มีอคติ อย่างที่สองคือ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเมตตา แสดงออกทางทวารทั้ง 3 คือ ใจหรือมโนกรรม วจีกรรมหรือคำพูด และสุดท้ายคือกายกรรมหรือการกระทำ อยู่บนสุจริต 3 ได้แก่ มโนสุจริต วจีสุจริต และกายสุจริต เพื่อให้สารที่เราจะสื่อออกไป อยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ ได้แก่ คิดดี พูดดี ทำดี เกิดเป็นสื่อสร้างสรรค์ ยกตัวอย่างหนังสัปเหร่อที่พูดถึงชีวิตชาวบ้าน ซึ่งเป็นวิถีชนบทแต่ก็แฝงธรรมะได้ พุทธศาสนาในต่างประเทศมีการใช้บทเพลงมาเป็นสื่อสอนธรรมะ รูปแบบเหล่านี้มีอยู่ทั่วโลก ดังนั้นจะเป็นรูปแบบใดก็ได้ แต่ขอให้สื่อถึงแก่นของธรรมะได้” ท่านเจ้าคุณพูดถึงการสร้างสื่อเพื่อเผยแพร่ธรรมะ
“บางคนลึกซึ้งในการฟังเพลงมาก มีอยู่คนหนึ่งพอได้ฟังเพลงธรรมะแล้ว เลิกฟังเพลงอย่างอื่นเลย” ครูเพลิน พรหมแดน ช่วยขยายความและยังฝากถึงบทเพลงธรรมะด้วยว่า
“อยากให้ทุกท่านยึดธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก จะทำอะไรก็ขอให้นึกพระพุทธองค์ แล้วพุทธานุภาพก็จะอยู่ใกล้เราเสมอ ขอให้ทุกคนตั้งมั่นในความดี แน่วแน่ อยู่ที่ความพอดี มีความตั้งใจประพฤติดี ขอให้นำความรู้ไปขยายต่อเพื่อให้ธรรมะไปอยู่ใกล้ผู้คน ให้ธรรมะอยู่อย่างยั่งยืน”
เว็ปไซต์ มหกรรมพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข คลังปัญญาออนไลน์
ดร.ธนกร ซึ่งเป็นแฟนคลับของครูเพลงเพลิน พรหมแดนอย่างเหนียวแน่น ถึงขั้นยกให้เป็นครูทางธรรม ที่ช่วยสอนธรรมะผ่านบทเพลง กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้รวบรวมสื่อหลากหลายรูปแบบที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไว้ในสื่อออนไลน์อย่าง “มหกรรมพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข” เพื่อเป็นน้ำทิพย์ที่พร้อมให้ทุกคนมาดื่มกิน ให้เกิดแสงสว่างทางปัญญา เป็นเหมือนคลังห้องสมุดของพุทธศาสนา ที่สามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนบนโลกใบนี้ โดยหวังให้ธรรมะนำไปสู่การสร้างสันติสุข
“ทุกวันนี้โลกวุ่นวาย มีทั้ง Fake News , Hate Speech, การหลอกลวง, มิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน, หลอกให้กลัว เต็มไปด้วยความอยากได้ อยากเอาเปรียบ เบียดเบียน และสร้างคอนเทนต์ที่ทำให้คนหลงเชื่อไปสู่หายนะ ขอให้ทุกคนมีสติ เพราะบางคนสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาเพื่อทำเรื่องแย่ๆ ให้มีคนเข้ามาต่อว่าด่าทอ สร้างสถานการณ์ให้ตัวเองโดนทัวร์ลง เพื่อหวังยอดวิวและมีโฆษณาเข้ามา เพราะฉะนั้นเราต้องสนับสนุนสื่อด้านดี พุทธศาสนาเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่มีจุดไหนในชีวิตที่ไม่เกี่ยวกับธรรมะเลย ธรรมะคือชีวิตประจำวัน ในภาวะที่โลกสับสนวุ่นวายโกลาหล ทั้งโรคระบาด เศรษฐกิจ สงคราม ถ้ามีธรรมะไว้ยึดเหนี่ยวเราจะรอด จึงอยากเชิญชวนให้ติดตามช่องทางธรรมะออนไลน์ที่กองทุนฯ เตรียมไว้ให้แล้วในมหกรรมพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข เวลาผมได้ฟังเพลงธรรมะจะรู้สึกว่าใจใสปิ๊ง เรื่องรกหัวก็จะหายไปหมด เหมือนได้ปฏิบัติธรรม รู้สึกรักพระพุทธเจ้ามากขึ้น” ดร.ธนกร กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากการเสวนา “เทศน์ ทอล์ก” ในงานดังกล่าวยังเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน มีโอกาสแสดงความรู้ ความสามารถเชิงสร้างสรรค์ทางพุทธศาสนาในโครงการประกวดคลิปสั้น “หนูได้ธรรม” ในหัวข้อ “การให้ข้อคิดธรรมะในชีวิตประจำวัน” ซึ่งมีเงินรางวัลรวมกว่า 50,000 บาท โดยผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมดจะนำไปเผยแพร่ในรูปแบบ Virtual Exhibition และสามารถติดตามสื่อทางพระพุทธศาสนาที่ช่วยให้เข้าถึงธรรมะได้ง่าย ภายใต้แนวคิด “อยู่ที่ไหนก็เข้าถึงธรรมะได้ เพียงปลายนิ้วสัมผัส” ที่ www.มหกรรมพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข.com
ข่าวแนะนำ