“เมืองโบราณศรีเทพ” ไขปริศนา? เหตุใดอยู่ๆจึงถูกทิ้งให้รกร้าง
“เมืองโบราณศรีเทพ” ไขปริศนา? เหตุใดจึงถูกทิ้งให้รกร้าง ทั้งที่เจริญรุ่งเรืองเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
วันนี้ ( 20 ก.ย. 66 )เป็นข่าวที่น่ายินดีของประเทศไทยของเราหลังจากที่ ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) สมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย มีมติให้ขึ้นทะเบียนแหล่งเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก ภายในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. 1972 ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)
ทั้งนี้ เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกลำดับที่ 7 ของไทย ก่อนหน้านี้ ไทยมีมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 6 แหล่ง ได้แก่
1.เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร
2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร
3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง
4.แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
5. ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
6.กลุ่มป่าแก่งกระจาน
เมืองโบราณศรีเทพ นั้น ตั้งอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 3 แหล่งที่สัมพันธ์และเกี่ยวข้องกัน คือ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ มีอายุมากกว่า 1,500 ปี และด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีความเหมาะสม จึงมีการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
อีกทั้งเป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว มีผังเมืองที่มีอัตลักษณ์แตกต่างไปจากผังเมืองสมัยทวารวดีทั่วไป และยังมีรูปแบบศิลปกรรมที่โดดเด่น และแตกต่างจากเมืองสมัยทวารวดีในที่อื่น ๆ จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปกรรมในสกุลช่างศรีเทพ
เหตุใดเมืองโบราณศรีเทพจึงถูกทิ้งให้รกร้าง
เมืองโบราณศรีเทพ นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยปัจจุบัน เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ซึ่งรวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า 800 ปี
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 15 หรือ ประมาณ 1300 - 1100 ปี เป็นช่วงเวลาที่เมืองเจริญเติบโต จากชุมชนเกษตรกรรมสู่สังคมเมืองขนาดใหญ่ ในช่วงเวลานี้ พบหลักฐานการติดต่อกับชุมชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างชัดเจนในเขตลำน้ำมูล ซึ่งเป็นความต่อเนื่องมาจากก่อนประวัติศาสตร์
เมืองโบราณศรีเทพ ถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้งประการใดประการหนึ่งหรือทั้งสองประการ ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18- ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่าง ต่อเนื่องมาจนเท่าถึงปัจจุบัน
ข้อมูลจาก : กรมศิลปากร , กระทรวงต่างประเทศ
ภาพจาก : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ