แพลงก์ตอนบลูม เกิดจากอะไร? เหตุใดจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงเวลาแปลกๆ
แพลงก์ตอนบลูม เกิดจากอะไร? เหตุใดจึงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง อ.ธรณ์ชี้แจงโลกร้อน-เอลนีโญ-ลานีญา มีส่วนหรือไม่
วันนี้ ( 30 ก.ค. 66 )ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูมเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่มีความเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝน ธาตุอาหาร แสงแดด ทิศทางลม กระแสน้ำ และปัจจัยอื่นๆ ในทะเล แต่ระยะหลังเริ่มปั่นป่วนเพิ่มขึ้น และมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงคือธาตุอาหารจากการเกษตร น้ำทิ้ง ปนเปื้อนไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยตอนในเป็นพื้นที่ค่อนข้างปิด น้ำวนอยู่นาน อิทธิพลจากแม่น้ำลำคลองมีมาก
เกี่ยวข้องทางอ้อมคือโลกร้อน ซึ่งตอนนี้แรงขึ้นจนอาจใช้คำว่า “โลกเดือด” และเกี่ยวข้องกับเอลนีโญที่ปรกติแล้วจะทำให้ฝนตกน้อย น่าจะทำให้แพลงก์ตอนบลูมน้อยเมื่อเทียบกับปีลานีญา แต่ปีนี้กลับมีข่าวน้ำเขียวบ่อยครั้ง และยังเกิดในช่วงเวลาแปลกๆ ในพื้นที่ที่ไม่ค่อยเจอมาก่อน
อาจารย์ธรณ์ระบุว่า โลกร้อนทำให้ทุกอย่างแปรปรวน การรับมือทำได้ยาก และจะยิ่งยากหากมีข้อมูลไม่เพียงพอในยุคนี้ที่โลกร้อนขึ้นและมีปรากฏการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
การช่วยชีวิตอ่าวไทยตอนในเราต้องคิดพัฒนางานศึกษาวิจัย การใช้เครื่องมือสนับสนุนระบบแจ้งเตือนที่ดีและทันการณ์ เช่นยกระดับการสำรวจและเฝ้าระวังทะเล ติดตามสภาพความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ปรับปรุงอุปกรณ์และสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาวิจัย จัดจุดติดตามถาวร บูรณาการข้อมูลและ GIS ใช้เทคโนโลยีทันสมัย รีโมทเซนซิง จัดทำโมเดลอ่าวไทย EEC จัดทำระบบแจ้งเตือนผู้ใช้ประโยชน์ ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล สมุทรศาสตร์แบบเรียลไทม์ จัดทำแผนการลดผลกระทบด้านธาตุอาหารจากแหล่งแม่น้ำลำคลอง สำรวจและดูแลอาขีพชาวประมงการท่องเที่ยวรายย่อย ฯลฯ
ในขณะที่คนทั่วไปสามารถช่วยได้ด้วยการลดผลกระทบด้านต่างๆ อย่าซ้ำเติมธรรมชาติ เช่น ลดโลกร้อน ลดขยะ บำบัดน้ำ สนับสนุนกิจการท้องถิ่น แจ้งเหตุผิดปรกติ ฯลฯ เราจะลดความสูญเสียได้มหาศาล
ข้อมูลจาก : Thon Thamrongnawasawat
ภาพจาก : กรมทรัพยากรทางธรณี