TNN วันนี้วันอะไร ทุกวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี ตรงกับ "วันภาษาไทยแห่งชาติ"

TNN

สังคม

วันนี้วันอะไร ทุกวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี ตรงกับ "วันภาษาไทยแห่งชาติ"

วันนี้วันอะไร ทุกวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี ตรงกับ วันภาษาไทยแห่งชาติ

รู้หรือไม่ ว่าทุกวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี ตรงกับ "วันภาษาไทยแห่งชาติ"

ประวัติและความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ 

วันภาษาไทยแห่งชาติ ถูกกำหนดให้ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ทั้งนี้ถูกประกาศขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 มีจุดประสงค์หลักเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซึ่งช่วงหนึ่งของพระราชดำรัส ทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทยไว้ว่า “เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”


ความสำคัญและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติ มีดังนี้

1. เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกที่พระองค์ได้พระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้และอนุรักษ์ภาษาไทย

2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

3. กระตุ้นและสร้างความตระหนักรู้ของคนไทย ให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่คู่ชาติไทยสืบเนื่องไป

4. เพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงในแวดวงวิชาการและวิชาชีพ ให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

5. เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทย ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะภาษาประจำชาติ และเป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของคนในชาติ


การจัดกิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ 

เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้และเป็นการอนุรักษ์ รวมถึงเพื่อให้เห็นความสำคัญของภาษาไทย ตามจุดประสงค์ของการจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้น ตามสถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน จะมีการจัดกิจกรรม รวมถึงนิทรรศการต่างๆ ในวันภาษาไทยแห่งชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ และนำไปสู่การส่งเสริมให้ภาษาไทยดำรงอยู่คู่ชาติไทยสืบไป


รู้หรือไม่อักษรไทยตัวไหนเลิกใช้ไปแล้ว?

ฃ พยัญชนะตัวที่ 3 และ ฅ พยัญชนะตัวที่ 5 ในอักษรไทย ถูกระบุในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า "เป็นอักษรที่ไม่นิยมใช้แล้ว" อย่างไรก็ตาม ยังมีการใช้อักษร ฃ และ ฅ ในบางแวดวง โดยมีนัยว่าเพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ตัวอักษรไทยมีใช้ครบ 44 ตัว 


ตัวอย่างนักปราชญ์ผู้โด่งดังของไทย

1. ศรีปราชญ์ กวีเอกในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความรู้ความสามารถรออบด้าน โดยเฉพาะทางด้านการแต่งโคลงกลอน ซึ่งถือเป็นมือแต่งโคลงกลอนอันดับหนึ่งในสมัยนั้น

2. พระสุนทรโวหาร (ภู่) กวีเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีชื่อเสียงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รวมถึงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม



ที่มาข้อมูล : Wikipedia, www.chula.ac.th


ข่าวแนะนำ