"น้ำนมแม่" วัคซีนหยดแรกของลูกน้อย เสริมภูมิคุ้มกัน ลดเสี่ยงออทิสติก
“น้ำนมแม่” คุณค่าและประโยชน์ไม่สิ้นสุด เสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคร้าย ลดเสี่ยงออทิสติก
เด็กทารกที่เกิดใหม่ จะมีภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ “น้ำนมแม่” จึงเปรียบเสมือน “วัคซีนหยดแรก” ของชีวิต เพราะมีทั้งสารอาหารและภูมิคุ้มกันโรคจำนวนมากที่ส่งผ่านจากแม่ถึงลูก
องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่าเด็กทารกควรได้กินนมแม่อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม เพราะเนื่องจากนมแม่จะสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลุกแล้ว ยังเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน มีสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงแบคทีเรียที่ดีต่อระบบทางเดินอาหารของทากอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนิน โครงการสร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และสานพลังเครือข่ายสู่การขยายผล เพื่อร่วมกันในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีการปฏิบัติอย่างยั่งยืนในสังคมไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ผศ.พญ.อรภา สุธีโรจน์ตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ช่วง 40 ปีที่ผ่านมาทุกคนต่างทราบดีว่านมแม่นั้นมีประโยชน์สำหรับการเจริญเติบโตของทารก ช่วยลดการติดเชื้อระบบทางเดินอาหารถึงร้อยละ 30 ลดความเสี่ยงอาการปอดอักเสบลงถึงร้อยละ 50-70 และเพิ่มระดับสติปัญญาหรือไอคิวได้สูงสุดถึง 3-10 จุด
มีการศึกษาในประเทศแคนาดาเปรียบเทียบระหว่างแม่ที่ให้นมลูกจากเต้า กับแม่ที่ให้นมแม่จากขวด โดยมีการติดตามเด็กเหล่านั้นจนถึงอายุ 3 ปี เพื่อดูว่าโอกาสของการเกิดโรคหอบหืดที่พบมาในเด็กช่วงวัยนี้มีความแตกต่างกันหรือไม่ พบว่าเด็กที่ได้รับนมแม่จากเต้าแล้วเสริมด้วยนมแม่ที่ปั๊มนมใส่ขวดมีโอกาสเกิดโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นประมาณ 1.64 เท่า หรือคิดเป็นร้อยละ 60 อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ของนมแม่เมื่อยู่ในขวดนม ต่างจากการให้นมจากเต้าที่จะได้รับจุลินทรีย์จากผิวหนังและเต้านมของแม่ ซึ่งยืนยันได้ว่าการกินนมแม่จากเต้านั้นดีกว่าการกินด้วยขวดนม
ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงสร้างประชากรเป็นกราฟชนิดหัวกลับ คือมีเด็กเกิดน้อยลงคิดเป็นเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น และในจำนวนนี้ยังเป็นเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดถึงร้อยละ 11 ซึ่งเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่มากที่สุดของอัตราการเกิดในเด็กทั่วไปที่อายุต่ำกว่า 5 ปี โดยร้อยละ 45 ของเด็กที่กลุ่มนี้จะเสียชีวิตในช่วงอายุไม่เกิน 1 เดือน
ผศ.พิเศษ พญ.มิรา โครานา ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดกลุ่มนี้มีความสำคัญมาก ทำยังไงไม่ให้เด็กเหล่านี้เสียชีวิต คำตอบก็คือมีงานวิจัยยืนยันแล้วว่า เด็กที่คลอดก่อนกำหนดถ้าได้กินนมแม่ อัตราการเสียชีวิตจากภาวะลำไส้อักเสบเน่าตาย และการติดเชื้อในกระแสเลือดจะลดน้อยลง
จากรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (MICs: Multi Indicator Cluster Survey) ล่าสุด MICs 6 พ.ศ.2565 เผยว่า ประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 28.6 ในขณะที่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2568 เด็กทารกร้อยละ 50 จะต้องได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ทาง มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนในสังคมไทยมาร่วมกันสร้างสังคมนมแม่ สนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ เพื่อสร้างเด็กไทยที่เกิดใหม่แต่เกิดน้อยให้มีคุณภาพ เพราะการที่เด็กทารกได้รับน้ำนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ได้รับอาหารตามวัยคุณภาพ ควบคู่กับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ จะเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างทุนสุขภาพที่ดีพร้อมทักษะชีวิตให้กับคนรุ่นใหม่
สำหรับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์-หลังคลอด สามารถศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อเตรียมตัวอย่างถูกต้องได้ที่ www.thaibf.com หรือที่ Facebookเพจ : Thaibf และ นมแม่ หรือดาวน์โหลด Application : Everyday Doctor ของกรมอนามัยที่เปิดคลินิกนมแม่ออนไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาแม่ที่มีปัญหาในการให้นมแม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.
ที่มาข้อมูล : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย, TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN, มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย, AFP