อาจารย์เจษฎ์ ไขข้อสงสัย "พาวเวอร์แบงค์ระเบิด" เกิดขึ้นได้อย่างไร?
อาจารย์เจษฎ์ ไขข้อสงสัย "พาวเวอร์แบงค์ระเบิด" เกิดขึ้นได้อย่างไร? กรณีไม่ได้ชาร์จแต่ระเบิดเองมีโอกาสเกิดขึ้นได้แค่ไหน
อาจารย์เจษฎ์ ไขข้อสงสัย "พาวเวอร์แบงค์ระเบิด" เกิดขึ้นได้อย่างไร? กรณีไม่ได้ชาร์จแต่ระเบิดเองมีโอกาสเกิดขึ้นได้แค่ไหน
เหตุการณ์ พาวเวอร์แบงค์ระเบิด มีทั้งชาร์จทิ้งไว้และระเบิด กับ ไม่ได้ชาร์จก็ระเบิด ซึ่งพบได้บ่อยบางเคสอาจทำให้ไฟไหม้บ้าน ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ค.66 ก็เกิดเหตุไฟไหม้บ้านที่จังหวัดระยอง หลังชาร์จพาวเวอร์แบงค์ทิ้งไว้ เจ้าของบ้านเผยว่า ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีในการดับไฟได้สำเร็จ หลังจากดับไฟเสร็จตนรู้สึกแน่นหน้าอก และก็อาเจียนออกมาเป็นสีดำ คาดว่าน่าจะมาจากเขม่าควันดำที่ตนสูดดมเข้าไป
พาวเวอร์แบงค์ ระเบิด เกิดขึ้นได้อย่างไร?
โดย เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” หรือ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยโพสต์อธิบายถึงเรื่องดังกล่าวไว้ว่า
สาเหตุที่พาวเวอร์แบงค์ หรือ พวกแบตเตอรีสำรอง เกิดระเบิดลุกไหม้ไฟได้ ไม่เหมือนกับพวกถ่านไฟฉาย ถ่านอัลคาไลน์ที่คุ้นเคยกันมานานนั้น ก็เพราะมันมักจะเป็นแบตเตอรี่พวกลิเธียมไอออน (lithuim ion) ที่มีน้ำหนักเบา และมีความหนาแน่นของความจุไฟฟ้าสูง แต่ก็ต้องระวังอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าลิเธียมสัมผัสกับอากาศที่มีก๊าซออกซิเจน และทําให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน เกิดความร้อนสูง และเกิดการระเบิดรุนแรงได้ โดยปรกติแบตเตอรี่แบบลิเธียมไออนจึงต้องมีเปลือกแบตเตอรี่และวัสดุห่อหุ้มเซลไฟฟ้าด้านใน ไม่ให้โมเลกุลของก๊าซออกซิเจนสัมผัสกับอะตอมของลิเธียม
แต่ถ้าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนนั้น มีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งในส่วนของวัสดุที่ใช้ห่อหุ้ม และในส่วนของวงจรไฟฟ้าสำหรับการจ่ายไฟและการชาร์จไฟ รวมไปถึงการเสื่อมประสิทธิภาพตามการเวลา หรือถูกกระแทกจนเกิดความเสียหาย หรือจัดเก็บในที่ๆ ไม่เหมาะสม เช่น มีความร้อนสูง ก็อาจจะนำมาสู่อุบัติเหตุ มีไฟฟ้าลัดวงจรในแบตเตอรี่ เกิดอุณหภูมิที่สูงขึ้น เกิดความเสียหายกับเปลือกหุ้มเซลแบตเตอรี่จนอากาศเข้าไปข้างในและเจอกับโลหะลิเธียม สุดท้าย ก็อาจระเบิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์พาวเวอร์แบงค์ระเบิด โดยที่ไม่ได้มีการเสียบชาร์จอยู่ ถึงจะมีความเป็นไปได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก (แค่ประมาณ 1 ในล้านเท่านั้น .. อ้างอิง ศ.ดร.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา อาจารย์ภาควิศวคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ .. ลิงค์ข้อมูลด้านล่าง) และพาวเวอร์แบงค์ก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการบังคับ ให้ทุกชิ้น ทุกยี่ห้อ ที่จะวางจำหน่ายในประเทศไทย ต้องผ่านมาตรฐาน ด้านความปลอดภัย มอก. 2879-2560 และต้องได้รับอนุญาตในการผลิต-นำเข้า โดยจะต้องมีตรา มอก. แปะอยู่กับพาวเวอร์แบงค์ทุกลูก
ที่มา อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
ภาพจาก TNN Online / ผู้สื่อข่าวระยอง