TNN แค่ให้ความรู้ไม่พอ ยูนิเซฟ หนุนออกกม.ปกป้องเด็กจากการตลาดอาหาร ‘หวาน มัน เค็ม’

TNN

สังคม

แค่ให้ความรู้ไม่พอ ยูนิเซฟ หนุนออกกม.ปกป้องเด็กจากการตลาดอาหาร ‘หวาน มัน เค็ม’

แค่ให้ความรู้ไม่พอ ยูนิเซฟ หนุนออกกม.ปกป้องเด็กจากการตลาดอาหาร ‘หวาน มัน เค็ม’

ร่างพ.ร.บ.ปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารฯ เปิดประชาพิจารณ์ถึงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ชี้เจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อปกป้อง-คุ้มครองเด็กต่ำกว่า 18 ปี หวังเด็กลดพฤติกรรมการพบเห็น บริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เสี่ยงโรคอ้วน โรค NCD ขณะที่งานวิจัยชี้คุ้ม มาตรการทางกฎหมายใช้งบล้านต้นๆ ลดการเกิดภาวะเริ่มอ้วน โรคอ้วนในเด็กได้ถึง 1.2 แสนคน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ.2566 (เมือง พลเมือง อัจฉริยะ:Smart city Smart Citizen) ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ   โดยภายในงานมีเวทีเสวนา เรื่อง "ไขข้อข้องใจ ร่าง มาตรการกฎหมายปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็ม  เพื่อลดความเสี่ยงโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง”  

ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายออกมาเพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็กต่ำกว่า 18 ปี จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เด็กลดพฤติกรรมการพบเห็น ลดพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ที่นำไปสู่ความเสี่ยงโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

“เรามุ่งเด็กให้มีสุขภาพที่ดี สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อเด็ก แม้กฎหมายจะต้องการปกป้องเด็ก แต่ทุกๆ คนในประเทศไทยก็ได้ประโยชน์ หากประเทศไทยมีกฎหมายฉบับนี้”

ดร.แพทย์หญิงสายพิณ กล่าวอีกว่า ตามนิยามของร่างกฎหมายฯ ไม่ได้หมายถึงอาหารและเครื่องดื่มทั่วๆ ไป  อาหารและเครื่องดื่มประเภทไหนไม่ดีต่อสุขภาพ ส่งผลต่อสุขภาพเด็ก คือ อาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และมีโซเดียมสูง อาหารที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย และเสี่ยงด้านสมองและจิตประสาท

“อาหารกลุ่มไหนไม่ดีต่อสุขภาพ เราใช้เกณฑ์จำแนกอาหารตามมาตรฐานโภชนาการ (Nutrient Profile) ขององค์การอนามัยโลกมาปรับใช้ให้ตรงกับบริบทของประเทศ รวมถึงสัญลักษณ์โภชนาการ ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)”

ในกฎหมายยังกำหนดเกณฑ์น้ำตาล ไขมันโซเดียม ในอาหาร 7 กลุ่ม 1.อาหารมื้อหลัก 2.อาหารกึ่งสำเร็จรูป 3.ขนมขบเคี้ยว 4.ขนมอบ นึ่ง ทอด 5.ขนมหวานและไอศรีม 6.เครื่องดื่มในภาชนะที่ปิดสนิท และ7.นมและผลิตภัณฑ์นม”

ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย  กล่าวถึงความคืบหน้าของร่างกฎหมายฉบับนี้ อยู่ในการทำประชาพิจารณ์ ออนไลน์จนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ และเมื่อได้ข้อคิดเห็นทั้งหมดแล้ว ขั้นตอต่อไปคือการปรับปรุงกฎหมายให้ตอบสนองต่อความต้องการ  รวมถึงเรื่องของฉลากโภชนาการ คาดว่า ประมาณเดือนพฤศจิกายน- ธันวาคม จะสามารถเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อผู้บริหารกรม และกระทรวงสาธารณสุข และเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายในที่สุด

นางสาวศิริรัฐ ชุณศาสตร ผู้เชี่ยวชางานพัฒนาวัยรุ่น องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวถึงความจำเป็นของร่างกฎหมายการตลาดอาหารฯ ฉบับนี้ สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่เป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

“การควบคุมการตลาดอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นจุดเริ่มการดูแลด้านสุขภาพเด็ก เพราะเด็กเล็กไม่มีความสามารถในการตีความเจตนาโน้มน้าวใจทางการตลาด การส่งเสริมการตลาดอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพส่งผลต่อความชื่นชอบ และบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้ตลอดช่วงอายุ ไม่เว้นแม้แต่วัยรุ่น ที่ก็จะถูกกระตุ้นได้ง่าย เช่นกัน”

นางสาวศิริรัฐ กล่าวต่อถึงประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลี ตุรกี อังกฤษ ไอร์แลนด์ ก็ควบคุมการตลาดอาหารฯ ช่วงอายุต่ำกว่า 18 ปี เช่นกัน  ฉะนั้นการให้ความรู้ไม่พอ จำเป็นต้องมีนโยบายที่ช่วยให้เด็กสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยได้ด้วย

“กฎหมายฉบับนี้คำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก น่าชื่นชม  และส่งผลไปถึงสุขภาพประชากรของประเทศในภาพรวม ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคนี้ ที่กำลังขับเคลื่อนกฎหมายแบบนี้ออกมา”

ส่วนดร.นงนุช จินดารัตนาภรณ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งเป็นคำถามว่า  ช่วงที่ผ่านมา สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขทำงานหนัก แต่ทำไมทำงานหนัก ทำงานดี ทำไมโรคอ้วนในเด็กไทยไม่ลดลง  ขณะที่ยอดการขายอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียม ในกลุ่มนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งอุตสาหกรรมที่ลงทุนทำการตลาดมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมอาหาร  ฉะนั้นควรมีการควบคุมการตลาดที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

“มีงานวิจัยยืนยัน หากประเทศไทยใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารฯ จะคุ้มค่ามากๆ ใช้งบประมาณ  1.13 ล้านบาทในการลดการเกิดภาวะเริ่มอ้วน และโรคอ้วนในเด็กได้ถึง 121,000 คน”

ในต่างประเทศมีใครทำอะไรบ้าง และมีผลอย่างไร ดร.นงนุช ยกตัวอย่างประเทศแคนนาดาห้ามโฆษณาอาหารหวาน มันเค็ม ทุกช่องทาง  อังกฤษ ไอร์แลนด์ เปรู ตุรกี เกาหลี สิงค์โปร์ ห้ามโฆษณาอาหารทางโทรทัศน์และวิทยุ  โดยเฉพาะสิงค์โปร ห้ามโฆษณาทางทีวีช่วงที่เด็กดูเยอะๆ เป็นต้น

ขณะที่ รศ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวเสริมถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามขายอาหารและเครื่องดื่ม  ผู้บริโภคยังคงมีอิสระการเลือกซื้อสินค้า โดยกฎหมายเน้นปกป้องกลุ่มเปราะบางคือเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

"เราไม่ได้มองผู้ประกอบการเป็นตัวร้าย เราคาดหวังเพียงว่า ผู้ประกอบการจะหยิบยื่นความปลอดภัย ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง"


แค่ให้ความรู้ไม่พอ ยูนิเซฟ หนุนออกกม.ปกป้องเด็กจากการตลาดอาหาร ‘หวาน มัน เค็ม’


แค่ให้ความรู้ไม่พอ ยูนิเซฟ หนุนออกกม.ปกป้องเด็กจากการตลาดอาหาร ‘หวาน มัน เค็ม’

ข่าวแนะนำ