สกสว.ร่วมต่อจิ๊กซอว์กับ มรภ.นครราชสีมา เป็นแหล่งเรียนรู้-พัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
สกสว.ร่วมหนุนเสริมการพัฒนาพื้นที่ของมรภ.นครราชสีมา หวังเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะตอบโจทย์คนทุกช่วงวัย รวมถึงการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดคุณค่าและสร้างอัตลักษณ์ด้วยงานวิจัย นวัตกรรม และองค์ความรู้ เพื่อสร้างความยั่งยืนภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคีและคนในพื้นที่ โดยมีมรภ.ช่วยต่อจิ๊กซอว์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเร็วขึ้น
วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ผศ. ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พรัอมคณะเจ้าหน้าที่เดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่และติดตามหนุนเสริมการดำเนินงานของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อหารือนโยบายและทิศทางการสนับสนุนงบประมาณของทุนสนับสนุนงานมูลฐาน ภายใต้กองทุนส่งเสริม ววน. สู่การขับเคลื่อนงานวิจัยและใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่
ผศ. ดร.แพรระบุว่า อยากให้หน่วยรับงบประมาณวางแผนงานสำคัญในระยะ 5 ปี ออกแบบแผนงานโครงการอย่างมีระบบและสะท้อนเป้าหมายและพันธกิจของหน่วยรับงบประมาณ มีเป้าหมายสุดท้ายและเป้าหมายรายปี ระบุผลผลิตและผลลัพธ์ที่จะส่งมอบอย่างชัดเจน ตอบสนองยุทธศาสตร์ของหน่วยงานและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ สามารถต่อยอดผลักดันไปรับทุนสนับสนุนเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างผลกระทบมากขึ้น โดยจัดลำดับความสำคัญของงานตามคุณภาพและศักยภาพในการส่งมอบผลผลิต ใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่าและเหมาะสม
ด้าน ผศ. ดร.รัฐกรณ์ คิดการ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการวิจัยและนวัตกร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับภารกิจสำคัญเร่งด่วน โดยอธิการบดีให้โจทย์การขับเคลื่อนในอนาคต คือ การปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะตอบโจทย์สำหรับคนทุกช่วงวัย ซึ่งมีภารกิจหลายด้านและต้องปรับโครงสร้างเพื่อรองรับภารกิจ รวมถึงการพัฒนาท้องถิ่นด้วยงานวิจัย นวัตกรรม และองค์ความรู้เพื่อสร้างความยั่งยืน ทั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการติดตามหนุนเสริมของ สกสว.ครั้งนี้จะทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และนำไปบูรณาการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการตอบโจทย์มหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ให้เกิดคุณค่าและอัตลักษณ์ของพื้นที่
ขณะที่ ผศ. ดร.วาสนา ภานุรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ที่มีความเป็นอัตลักษณ์สูงว่ามหาวิทยาลัยได้เข้าไปพัฒนาต่อยอดโดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในพื้นที่ และเห็นถึงการนำไปใช้ประโยชน์จริงเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณะทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ รวมถึงการขับเคลื่อนที่จะพัฒนาข้อเสนอโครงการกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยเพื่อขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยในปี 2568 โดยมีความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ของ สกสว. กับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยใน 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนากำลังคนและสถาบันด้วย ววน. ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดด
“มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้เชื่อมโยงกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ภายใต้การสนับสนุนของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และทุกภาคีภายใต้ประเด็นร่วมของยุทธศาสตร์จังหวัด เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และจังหวัด เพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีและคนในพื้นที่มากขึ้น โดยมีมหาวิทยาลัยเข้าไปอุดช่องว่างเพื่อให้ต่อจิ๊กซอว์ได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยพัฒนาและขึ้นโจทย์ของแต่ละกลุ่ม เช่น เกษตร เศรษฐกิจฐานราก แก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนการประสานเชื่อมโยงกับสื่อเพื่อพัฒนาภาคธุรกิจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่เพื่อสร้างสินค้าอัตลักษณ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและส่งต่อคุณค่าในท้องถิ่นและต่อยอดเชิงธุรกิจได้มากขึ้น ทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนวิจัยและผลกระทบต่อประชาชนและประเทศ”