TNN กฎหมายใหม่! พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีผลบังคับใช้แล้ว

TNN

สังคม

กฎหมายใหม่! พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีผลบังคับใช้แล้ว

กฎหมายใหม่! พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีผลบังคับใช้แล้ว

รองโฆษกรัฐบาลเผย กฎหมายใหม่! พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2566 เพิ่มโอกาสทวีค่าเงินออมให้สมาชิก กบข. มีผลบังคับใช้แล้ว

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แจ้งกฎหมายใหม่ พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้แล้ว โดยกฎหมายฉบับนี้ได้มีการแก้ไขปรับปรุงทั้งหมด 5 ประเด็นสำคัญ เพื่อทวีค่าเงินออมให้แก่สมาชิก สรุปสาระสำคัญดังนี้


1.สมาชิก กบข. สามารถออมเพิ่มได้สูงสุด 27% ของเงินเดือน เมื่อรวมกับเงินสะสม 3% จะสามารถออมกับ กบข. ได้สูงสุดถึง 30% จากเดิมที่ออมเพิ่มได้สูงสุดเพียง 12% เท่านั้น 


2.เมื่อสมาชิกเลือกหรือเปลี่ยนแผนการลงทุน จะมีผลต่อเงินทุกประเภทในบัญชีรายบุคคล ประกอบด้วย เงินสะสม เงินออมเพิ่ม เงินสมทบ เงินชดเชย และเงินประเดิม จากเดิมที่เงินประเดิม และเงินชดเชย จะถูกกำหนดให้ลงทุนในแผนหลัก สมาชิกจะไม่สามารถเลือกแผนการลงทุนได้ 


3. สมาชิก กบข. ใหม่ หากไม่ใช้สิทธิเลือกแผนการลงทุน กบข. จะกำหนดแผนการลงทุนเริ่มแรกเป็นแผนสมดุลตามอายุ จากเดิมที่สมาชิกใหม่จะถูกกำหนดให้อยู่ในแผนหลัก 


สำหรับ 3 ประเด็นดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา


4. สมาชิก กบข. สามารถโอนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาให้ กบข. บริหารได้ 


5. ผู้ออมต่อกับ กบข. สามารถเลือกเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ จากเดิม ถูกกำหนดให้ลงทุนในแผนเดิมก่อนออกจากราชการนั้น จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการ กบข. ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดแล้ว ทั้งนี้ สมาชิก กบข. สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก โทร.1179


ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งประเทศ โดยคาดการณ์ว่าอีก 1 – 2 ปีข้างหน้าจะมีประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ในปี 2577 ส่งผลให้มีประชากรที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมากขึ้น ดังนั้น ประชาชนทุกคนจึงควรมีการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการออมเงินระยะยาวให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยเกษียณ รวมทั้งตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงิน มีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต




แฟ้มภาพ TNN Online

ข่าวแนะนำ