TNN สิ่งแวดล้อมกับความสุข : ความสุขจากพื้นที่สีเขียว โดย รศ.ดร. เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์

TNN

สังคม

สิ่งแวดล้อมกับความสุข : ความสุขจากพื้นที่สีเขียว โดย รศ.ดร. เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์

สิ่งแวดล้อมกับความสุข : ความสุขจากพื้นที่สีเขียว โดย รศ.ดร. เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์

สิ่งแวดล้อมกับความสุข: ความสุขจากพื้นที่สีเขียว บทความเนื่องในวันความสุขสากล 20 มีนาคม 2566 รศ.ดร. เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์ สมาคมเครือข่ายงานวิจัยนานาชาติเพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข (ไอร่าห์) และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


 

เนื่องในวันความสุขสากลปีนี้ ประเด็นหนึ่งที่อยากให้สังคมตระหนักและรีบปฎิบัติการเพื่อเพิ่มความสุขของประชาชนคือการอนุรักษ์และเพิ่มคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขของประชาชน

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าโลกเราทุกวันนี้ต้องเผชิญกับปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดผลกระทบทางลบต่อผู้คนอย่างมากมาย หน่วยงานพัฒนาในระดับโลกโดยองค์กรสหประชาชาติได้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การกำหนดกรอบระยะเวลาและแผนในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปลดปล่อยก้าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (ภายในปี 2530 และ 2550 ตามลำดับ) ประเทศไทยได้ร่วมในพันธะสัญญาระหว่างประเทศเหล่านี้ ถีงแม้ว่าจะวางเป้าหมายที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปลดปล่อยก้าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระดับประเทศช้ากว่าของโลก คือภายในปี 2550 และ ปี 2565 ตามลำดับ แต่ก็แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้

 

มีงานศึกษาวิจัยจากต่างประเทศมากมายที่ยืนยันถึงความสำคัญของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่มีต่อคุณภาพชีวิตและความสุขของมนุษย์  และตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเมื่อมนุษย์เราเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ  นอกจากนั้นมีงานวิจัยที่ยืนยันถึงผลกระทบเชิงบวกของพื้นที่สีเขียวต่อสุขภาพและความสุข อาทิ งานวิจัยยืนยันว่าการที่ได้มีที่อยู่อาศัยที่ใกล้พื้นที่สีเขียวมากเท่าไหร่ ยิ่งมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของความอยู่ดีมีสุขของผู้อยู่อาศัยมากเท่านั้น ดังนั้นนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองที่มีอัตราส่วนของพื้นที่สีเขียวต่ำ จึงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นประเด็นเชิงนโยบายของหลายๆเมือง

 

เป็นที่ทราบกันว่าพื้นที่สีเขียวขาดแคลนมากในเมืองใหญ่ กรุงเทพมหานครก็เช่นกัน จากการสำรวจดัชนีความเขียวของเมืองในเอเชีย (โดย the Economic Intelligent Unit ในปี 2012) พบว่ากรุงเทพฯเป็นหนึ่งในกลุ่มเมืองใหญ่ที่มีอัตราพื้นที่สีเขียวต่อประชาการที่ต่ำที่สุดในโลก  แต่ขณะเดียวกันชายชอบของกรุงเทพฯอีกฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่สีเขียวติดเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับกรุงเทพได้มาก คือพื้นที่สีเขียวบางกะเจ้า ที่ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 12,000 ไร่ รวมอาณาเขต 6 ตำบลในอำเภอพระประแดง จ. สมุทรปราการ พื้นที่นี้ถูกขนานนามว่าเป็นปอดของกรุงเทพฯ (โดย Times Magazine Asia ในปี 2006) เป็นที่ผลิตอ้อกซิเจนและดูดซับคาร์บอนได้อย่างมาก ดังนั้นการพยายามคงรักษาไว้ซึ่งพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้เมืองจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน ในเมื่อการสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นใหม่อาจมีข้อจำกัดหลายๆประการรวมทั้งประเด็นปํญหาต่างๆอันเนื่องมาจากประเด็นเรื่องที่ดิน การบำรุงรักษาพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืนควรจะเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน ก่อนที่พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้เมืองผืนนี้จะค่อยๆลดลงหากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายภาคส่วนต่างนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ

 

 

สิ่งแวดล้อมกับความสุข : ความสุขจากพื้นที่สีเขียว โดย รศ.ดร. เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์

 

 

จากการศึกษาในระดับนานาชาติพบว่าสิ่งแวดล้อมกับความสุขมีความสัมพันธ์กัน และพื้นที่สีเขียวทำให้คนมีความสุขขึ้น  ในกรณีศึกษาของบางกะเจ้า ประเทศไทย เมื่อปี 2561-62 ก็เช่นกัน ผลจากการทดสอบเชิงปริมาณพบว่าคุณภาพสิ่งแวดล้อมมีผลต่อความสุขของคนในชุมชน ในทุกระดับอาชีพ รายได้ อายุ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใหนก็ตาม สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อความสุขอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นในการสำรวจล่าสุดในเดือนมีนาคมปี 2566 พบว่า สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความสุขเพิ่มมากขึ้น และมากกว่าครึ่งที่ตอบว่าระดับความสุขที่มาจากพื้นที่สีเขียวอยู่ในระดับสูงสุด (55%) และมีความเป็นห่วงว่าพื้นที่สีเขียวจะลดลงในระดับที่มากที่สุดเกือบ 50% ในระดับรองลงมาอีก 30% ดังกราฟที่แสดงให้เห็นดังนี้


สิ่งแวดล้อมกับความสุข : ความสุขจากพื้นที่สีเขียว โดย รศ.ดร. เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์

ในขณะที่พื้นที่สีเขียวมีผลต่อความสุขของคนในชุมชน และยังมีผลกระทบเชิงบวกในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้แก่คนนอกชุมชน ข้ามพรมแดน ข้ามจังหวัด รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการลดคาร์บอนด้วยต้นทุนที่ต่ำ สอดคล้องกับนโยบายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลดก้าซเรือนกระจกของประเทศ แต่พื้นที่สีเขียวบางกะเจ้ากำลังอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงว่ากำลังจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งปัญหาจากเรื่องน้ำที่ไม่มีคุณภาพ ต้นทุนสูง การประกอบอาชีพ การสูญเสียที่ดิน ฯลฯ สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรตระหนักถึงการอนุรักษ์และเพิ่มคุณภาพพื้นที่สีเขียวแห่งนี้และที่อื่นๆ เพื่อเพิ่มความสุขของประชาชน รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายของประเทศและการพัฒนาที่ยั่งยืนอันเป็นทิศทางการพัฒนาของโลกต่อไป

 

 

อ้างอิง: References:

 

Kittiprapas, S. (2020) “Happiness Determinants in a Buddhist Community: Where Inner Happiness Matters” in Thammasat Review of Economic and Social Policy (TRESP), vol 6. No.1, p. 85-135.

 

Krekel and MacKerron (2020). How Environmental Quality Affects Our Happiness. 2020 World Happiness Report.

 

Marshall A (2006). Best of Asia: Best Urban Oasis. Time (15 May 2006).

The Economist Intelligence Unit (2012). Asian Green City Index: Assessing the Environmental Performance of Asia’s Major Cities.

 

MacKerron, George and Mourato, Susana (2013) Happiness is greater in natural environments. Global environmental change.

 

The Economist Intelligence Unit (2012). Asian Green City Index: Assessing the Environmental Performance of Asia’s Major Cities.

ข่าวแนะนำ