ติดเชื้อแล้วกว่า 10 คน "หมอมนูญ" เปิดข้อมูลผู้ป่วยเชื้อราจากโพร่งต้นไม้
"หมอมนูญ" เปิดข้อมูลทางวิชาการที่น่าสนใจ จากเหตุการณ์ที่กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าไปในโพรงต้นช้างม่วงที่ป่าจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วเกิดอาการติดเชื้อราในปอดกว่า 10 คน โดยยืนยันว่าผู้ป่วยปอดติดเชื้อจากต้นไม้เกิดจากเชื้อราฮิสโตพลาสมา ซึ่งมีอยู่ในมูลค้างคาวและนกบางชนิด
นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า มีข้อมูลเชิงลึกที่ถือประเด็นร้อน เมื่อพบผู้ป่วยปอดติดเชื้อจากต้นไม้ พร้อมเปิดเผยว่า ฮิสโตพลาสมามีจริง ซึ่งเชื้อราฮิสโตพลาสมามีในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ค่อนข้างพบผู้ป่วยน้อย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีคนเข้าไปในโพรงต้นไม้แล้วได้รับเชื้อนี้ จึงออกมาให้ความรู้กับประชาชนว่า เชื้อราฮิสโตพลาสมา มีอยู่ในมูลของค้างคาวและนกบางชนิด ซึ่งเชื้อนี้ไม่ทําให้ค้างคาวป่วย แต่เมื่อค้างคาวขับถ่ายลงมาที่ดิน เวลาคนเข้าไปย่ำดิน ทําให้สเปอร์ของเชื้อราลอยฟุ้งขึ้นมา แล้วเมื่อเราหายใจเข้าไป เชื้อรานี้ก็จะเข้าไปในปอด
โดยเมื่อเชื่อเข้าปอดก็จะกระจายทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยคือกระจายไปที่ต่อมหมวกไต ม้าม ตับ และสามารถถึงสมองได้ ถ้าเราไม่รู้หรือรู้ช้า แล้วไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที โดยเฉพาะคนสูงอายุ หรือคนที่มีโรคประจําตัว อาจทําให้เสียชีวิตได้ ส่วนคนที่แข็งแรง หรือเด็กๆ แม้จะได้รับเชื้อรานี้ร่างกายจะสามารถกําจัดเองได้
นอกจากนี้ นายแพทย์มนูญ เปิดเผยว่า หลังโพสต์ข้อความมีคุณหมอบางท่านเห็นโพสนี้แล้วมาแชร์ประสบการณ์ว่า เคยเจอเคสคล้ายๆ อย่างนี้ แต่วินิจฉัยไม่ถูก ไม่ทราบว่าเป็นอะไร จึงอยากเตือนว่า ต้องระวังเวลาเข้าไปในโพรงต้นไม้ หรือในถ้ำที่มีค้างคาว เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อราฮิสโตพลาสมา ควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน
ขณะที่ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า โควิด 19 ความต้องการจะฉีดวัคซีนในภาวะปัจจุบัน โดยวัคซีนในระยะแรกกับในปัจจุบัน สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง ในระยะแรกของโรคโควิดโรคมีความรุนแรงสูง วัคซีนที่ทดลองมาใช้ระยะเวลาสั้นและมีอาการข้างเคียงบ้าง ทุกคนก็ยอมใช้ขวนขวายที่จะหา แต่ในยามปกติวัคซีนที่ฉีดแล้วมีไข้สูง โดยเฉพาะวัคซีนในเด็กปัจจุบัน จะไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแน่นอน
ปัจจุบันเมื่อโรคมีความรุนแรงลดลง คล้ายไข้หวัดใหญ่หรือโรคทางเดินหายใจ การพิจารณาใช้วัคซีนจะคำนึงถึงความปลอดภัย ของวัคซีนมากขึ้น ความลังเลในการจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อไปก็เริ่มมีมากขึ้น ขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนไปมากแล้วและมีการติดเชื้อมากเช่นกัน แต่ความต้องการของวัคซีนในเข็มกระตุ้น ลดลงเหลือร้อยละ 60 และเมื่อวัคซีนขวดหนึ่งต้องฉีดหลายคน ตลอดจนการเก็บรักษา การบริหารวัคซีน และการฉีดวัคซีน จะน้อยกว่าเป้าหมาย
ด้านบริษัทชิโอโนะกิของญี่ปุ่น เจ้าของยาเม็ด โซโควา เผยแพร่ผลทดสอบทางคลินิคขั้นสุดท้ายในที่ประชุมแห่งหนึ่งที่จัดขึ้นในสหรัฐฯ ว่า ยาเม็ด เอ็นซิเทอเวียร์ หรือ ที่รู้จักกันในญี่ปุ่นในชื่อว่า โซโควา ช่วยให้การฟื้นฟูหายจากอาการป่วยเกี่ยวเนื่อจากไวรัสโควิด-19 รวมทั้งอาการไข้ และอ่อนเพลีย ได้เร็วขึ้นเกือบครึ่งหนึ่งหรือหายเร็วขึ้นหนึ่งวันจากระยะเวลาการฟื้นฟูจากอาการลองโควิดจนหายตามปกติทั่วไป
โดยทางการญี่ปุ่นอนุญาตให้ใช้ยาโซโควาเป็นกรณีฉุกเฉินเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว และนับเป็นยาเม็ดรักษาอาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขนานแรกที่ทางการญี่ปุ่นอนุญาตให้ใช้ โดยใช้กับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อายุ 12ปีขึ้นไปที่มี่ความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดอาการร้ายแรงตามมาจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และบริษัทชิโอโนะกิทดลองทางคลินิคกับอาสาสมัครมากกว่า 1,800คน
อย่างไรก็ดี บริษัท ชิโอโนะกิ จะต้องใช้เวลาติดตามผลการทดลองอีกเป็นเวลา 1 ปี เพื่อยืนยันผลการทดลองดังกล่าว และตั้งเป้าต้องการได้รับอนุญาตจากทางการเพื่อใช้รักษาและป้องกัน อาการลองโควิด แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับผลการทดสอบทดลองเพิ่มเติมในอนาคตด้วย