"ตรุษจีน 2566" เรื่องควรรู้ อันตรายจากควันธูป เปิดอาการ-วิธีป้องกัน
"ตรุษจีน 2566" เปิดเรื่องควรรู้ อันตรายจาก "ควันธูป-ประทัด" เปิดอาการและวิธีป้องกัน
"ตรุษจีน 2566" เปิดเรื่องควรรู้ อันตรายจาก "ควันธูป-ประทัด" เปิดอาการและวิธีป้องกัน
วันตรุษจีน 2566 ปีนี้ วันจ่าย ตรงกับ วันที่ 20 มกราคม 2566 / วันไหว้ ตรงกับ วันที่ 21 มกราคม 2566 และ วันเที่ยว วันตรุษจีน ตรงกับ วันที่ 22 มกราคม 2566
โดยตรุษจีน ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยเชื้อสายจีนและยังเป็นการรวมญาติของวงศ์ตระกูลและเป็นเทศกาลแห่งการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษที่ปฏิบัติกันเรื่อยมา เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตและคนในครอบครัว โดยก่อนที่จะเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่จะเตรียมทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ เพราะเชื่อว่าเป็นการปัดสิ่งอัปมงคลของปีเก่าออกไป พร้อมต้อนรับสิ่งมงคลของปีใหม่เข้าบ้าน และจัดโต๊ะไหว้ในวันตรุษจีนเพื่อประกอบพิธีกรรมสำคัญที่ต้องใช้ธูปและจุดประทัด
การจุดธูปแต่ละครั้งนั้น คนส่วนใหญ่มักมองข้ามอันตรายจากควันธูปจากสารมลพิษที่ปล่อยออกมา ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ รวมถึงสารก่อมะเร็ง เมื่อสูดดมเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว นอกจากนี้ ขี้เถ้าที่เหลือจากการจุดธูปยังมีสารโลหะหนัก ได้แก่ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว แมงกานีส
ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่เหมาะสมจะทำให้สารโลหะหนักเหล่านี้ตกค้าง ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของคนและสัตว์ได้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ธูปจึงต้องป้องกันตนเอง ดังนี้
-หลีกเลี่ยงการจุดธูปในบริเวณที่อากาศไม่ถ่ายเทหรือถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ห้องแอร์ ห้องที่ไม่มีประตูหน้าต่าง
-ควรใช้ธูปขนาดสั้นแทนธูปขนาดยาวเพื่อให้เกิดควันน้อยกว่า
-ศาลเจ้าควรตั้งกระถางธูปไว้นอกอาคารหรือในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก และเมื่อเสร็จพิธีการ ควรดับหรือเก็บธูปให้เร็วขึ้น เพื่อลดฝุ่นละอองจากควันธูปที่ตกค้าง
-เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในศาลเจ้า/ศาสนสถานที่ต้องสัมผัสควันธูปตลอดเวลา แนะนำให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและควัน ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันธูปเป็นเวลานานและต่อเนื่อง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังปฏิบัติงานควรล้างมือ ล้างหน้า ล้างตาให้บ่อยขึ้น และควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่อง
อาการ จากควันธูป
-ตาแห้ง แสบตา น้ำตาไหล
-ระคายเคืองจมูก จาม ไอ
-ระคายเคืองคอ
-เกิดอาการปวดศีรษะ
-เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
-หมดสติ
นอกจากอันตรายจากการจุดธูปแล้ว การจุดประทัดก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพเช่นกัน หากสัมผัสผิวหนังหรือสูดดมสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง หู ตา จมูก และระบบทางเดินหายใจ รวมถึงอาจไปทำลายตับ ม้าม และเกิดอัมพาตที่แขนหรือขาได้ และหากมีเสียงดังมากติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้การได้ยินสูญเสียไป ทั้งยังอาจทำให้ผิวหนังไหม้จากความร้อนของประทัด รวมถึงอาจเกิดไฟไหม้และระเบิด ทำให้เสียชีวิตได้ และเพื่อป้องกันอันตรายจากการจุดประทัด จึงควร
-จุดประทัดให้ไกลจากบ้านเรือน แนวสายไฟ สถานีน้ำมัน ถังแก๊ส และวัตถุไวไฟ
-ไม่ควรจุดประทัดครั้งละมาก ๆ
-ห้ามเด็ก ๆ จุดประทัดเองโดยเด็ดขาด และหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีการจุดประทัด
-ห้ามใช้เทียนในการจุดประทัด ควรใช้ที่จุดที่มีลักษณะเฉพาะและมีลักษณะยาว
-ห้ามก้มหน้าเข้าไปใกล้ประทัด และห้ามโยนประทัดใส่กลุ่มคนเด็ดขาด
ที่มา กรมอนามัย (สื่อมัลติมีเดียกรมอนามัย) / กรมควรคุมโรค
ภาพจาก TNN Online