"บุหรี่ไฟฟ้า" หมอรามา ยืนยัน! ด้วยผลวิจัย เด็กที่เคยลอง เสี่ยงซึมเศร้าถึง 2 เท่า
อัพบุหรี่ไฟฟ้า พิษนิโคตินกระทบถึงสมอง หมอรามาสู้กลับด้วยผลวิจัย เด็กที่เคยลอง เสี่ยงซึมเศร้าถึง 2 เท่า
เวทีเสวนาวิชาการ “บุหรี่ไฟฟ้า วิกฤติสุขภาวะวัยรุ่นไทย” เปิดงานวิจัยต่างประเทศล่าสุด ชี้ชัด น้ำยาในบุหรี่ไฟฟ้าทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ ด้านหมอประกิต ห่วงวัยรุ่นหญิง ติดแล้วเลิกยาก ที่คิดว่าสูบแล้วเท่ห์ สู้กลับด้วยชุดข้อมูล ยันความรู้ปัจจุบันที่มีการตีพิมพ์ ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา ขณะที่ตัวแทนเยาวชนลงพื้นที่ เจอเด็กชั้นประถม สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว บางคนผันตัวเป็นตัวแทนขาย
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันยุวทัศน์ประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบในประเทศไทย จัดงานเสวนาวิชาการ “บุหรี่ไฟฟ้า วิกฤติสุขภาวะวัยรุ่นไทย” ที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ ถนนพระราม 4
เริ่มต้น ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวเปิดเวทีตอนหนึ่งถึงการทำเรื่องสงครามยาเสพติด พื้นฐานสำคัญคือเรื่อง บุหรี่ โดยมี 3 ปัจจัยทำลายสังคมไทย
1.บุหรี่ 2.บุหรี่ไฟฟ้า และ 3.กัญชา “ที่กำลังมาแรง คือ บุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะผู้หญิงมองเรื่องการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเรื่องเท่ห์มาก เป็นแฟชั่น ขณะที่กัญชามาแบบนโยบายรัฐ กัญชาเสรีมันระเบิดเทิดเถิง เกิดวัฒนธรรมทำมวนบุหรี่ ซึ่ง 3 ปัจจัยดังกล่าว ถือเป็น 3 อันตรายแนวราบ หากเด็กและเยาวชน เข้าถึงตัวใดตัวหนึ่ง เชื่อว่า จะได้ใช้อีกสองตัวแน่นอน อันตรายจึงเปิดช่องมากขึ้นๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงทางโซเชี่ยลมีเดีย ขณะที่ครอบครัวไม่มีเวลา โรงเรียนไม่รู้มีบุหรี่ไฟฟ้า สอนแต่เรื่องบุหรี่มวน นี่คือ สถานการณ์วิกฤติ อาการที่น่าเป็นห่วงมาก”
บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา เปิดประตูสู่วงจรสีเทา
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า หากแพลตฟอร์มยังเป็นแบบนี้ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า gateway effects ของบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นการต่อยอด เปิดประตูสู่วงจรสีเทา เหล้า บุหรี่ คือพี่น้องกัน โดยเด็กที่มีภาวะสุ่มเสี่ยงก็จะเข้าถึง ยาบ้า ตามด้วยความรุนแรง ปืน ในที่สุด
“ขณะนี้มาตรฐานของเด็กไทยน่าเป็นห่วงที่สุด คิดดูหากสามตัวนี้เข้ามาอีก สภาวะเด็กไทยจะเป็นอย่างไร ปัจจุบัน คนเครียด คลุ้มคลั่งเยอะ สามารถใช้ยาบ้า และเสี่ยงต่อความรุนแรง คือเรื่องปืน ฉะนั้น หากสืบไปสืบมาพื้นฐานจะมีเรื่องของบุหรี่ เหล้า เราห้ามแต่เสรี ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุม แต่หากเข้าไปทางสังคมออนไลน์ พิมพ์คำว่า บุหรี่ไฟฟ้า ขึ้นมาเป็นหมื่นๆ รสชาติ เป็นพันๆ ชนิด อีกทั้งครอบครัวไม่รู้ว่า เป็นบุหรี่ไฟฟ้า เพราะรูปร่างหน้าตาคล้ายเครื่องประดับ ฉะนั้น ประตูสู่วงจรสีเทา จะดำมากขึ้นหากเราไม่ทำอะไรเลย”
สำหรับเป้าหมายของบุหรี่ไฟฟ้า ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุว่า คือ เด็ก เยาวชน และผู้หญิง โดยเฉพาะการสู้กับเด็กและเยาวชนผู้หญิง ไม่ใช่ศึกเล็กๆ เพราะเราต้องต่อสู้กับเรื่องค่านิยม เจตคติ ความเท่ห์ แฟชั่น เด็กที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น
“ทำไมเราปล่อยให้ยาบ้าไหลเข้าประเทศตลอดเวลา ปล่อยให้บุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงง่าย น่าเป็นห่วงมาก ดังนั้น เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าทำอย่างไรก็ได้ให้มติครม รับทราบ และดำเนินการ”
เปิดงานวิจัยล่าสุด น้ำยาในบุหรี่ไฟฟ้าทำหัวใจเต้นผิดจังหวะ - ตายเฉียบพลันได้
ขณะที่ รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งคำถามถึงเป้าหมายการออกผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า พุ่งเป้าไปที่ผู้ใหญ่จริงหรือไม่ เพราะหากดูรสชาติของบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ต้องถามว่า ต้องการขายใครกันแน่ ด้วยแต่ละรสชาติดึงดูเด็กและเยาวชนทั้งนั้น
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ยังให้ข้อมูลงานวิจัยต่างประเทศล่าสุด ตีพิมพ์วันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ชี้ชัดว่า น้ำยาในบุหรี่ไฟฟ้าทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ ซึ่งผลกระทบระยะสั้นนี้ หากเทียบกับบุหรี่ธรรมดา กว่าจะป่วยเป็นถุงลมโป่งพองก็กินเวลาหลายสิบปี
“พิษของบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่เป็นวิกฤติ แต่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก งานวิจัยปีล่าสุด 2022 พบว่า เด็กมัธยมในอเมริกา 2.5 ล้านคน สูบบุหรี่ไฟฟ้า และ 1 ใน 4 สูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวัน ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ หรือแม้แต่ในอังกฤษงานวิจัยที่สำรวจปีนี้ พบว่า 1 ใน 5 นักเรียนหญิงอังกฤษอายุ 15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้า แม้กระทั่งประเทศนิวซีแลนด์ เดิมห้ามบุหรี่ไฟฟ้า มายกเลิกปี 2018 ปัจจุบันตัวเลขล่าสุด ปี 2021 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเด็กอายุ 14-15 ปี พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ” อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ให้ข้อมูล
เด็กที่เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า
ส่วนในประเทศไทย รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย (2562-2563) พบอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี นั้น 5.3% เคยลองสูบ และ2.9% บอกว่า สูบประจำ ในจำนวนนี้ 30% เป็นผู้หญิง ซึ่งต่างจากบุหรี่มวน ผู้หญิงสูบน้อยมาก
ขณะที่งานวิจัยในประเทศไทย พบว่า เด็กที่เริ่มด้วยบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูบบุหรี่มวนถึง 5 เท่า หรือสูบทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่ม 7 เท่า นอกจากบุหรี่ไฟฟ้าจะก่อให้เกิดปัญหาที่นำไปสู่การใช้สารเสพติดต่าง ๆ แล้ว ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพ ที่สำคัญ คือ นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเสพติดจะส่งผลโดยตรงต่อสมองและระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชนที่สมองจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่ พิษของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลให้เด็กที่สูบมีอาการหงุดหงิดง่าย เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ความจำแย่ลง ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน สมาธิสั้น และภาวะซึมเศร้า
และจากข้อมูลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยอายุ 10-19 ปีที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า กว่าครึ่งหรือ 53% มีภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้า และเด็กที่เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า ที่สำคัญ 7 ใน 10 ของเด็กไทย ที่เสพติดนิโคตินจากบุหรี่จะเลิกไม่ได้ไปตลอดชีวิต
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวถึงปรากฏการณ์ gateway effects ของบุหรี่ไฟฟ้าที่นำไปสู่การสูบบุหรี่ธรรมดา และสิ่งเสพติดอื่นๆ โดยแสดงความเป็นห่วง บุหรี่ไฟฟ้านำเด็กกลุ่มปกติ ที่ไม่ใช่เด็กกลุ่มเสี่ยง หรือมีปัญหา มีสถานะทางสังคมดี เข้าสู่บุหรี่ไฟฟ้า
เจ็บจี๊ด พบเด็กระดับประถม สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว
ด้านนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่เกี่ยวกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ไม่ใช่แค่วิกฤติสุขภาพ แต่เป็นวิกฤติของคนไทยทั้งประเทศ เรากลัวเด็กต่ำกว่า 18 ปี ที่ว่าแย่แล้ว การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของบุหรี่ไฟฟ้า เป้าหมายใหม่ก็คือเด็ก
“จากการทำงาน เราเจ็บจี๊ดเห็นเด็กระดับประถม สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว และที่ชั่วร้าย คือ เป้าหมายบุหรี่ไฟฟ้าคือเด็ก ยิ่งเด็กยิ่งดี เพราะสูบนาน อีกทั้งเราไม่เคยคิดว่า วันหนึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์หนึ่งในร่างกาย เป็นสินค้าที่กลายเป็นเครื่องประดับไปแล้ว มีการห้อยบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อความเท่ห์ ฉะนั้น บุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ใช่เรื่องของคนอยากสูบไม่อยากสูบ แต่มีเรื่องการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”
เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ได้แสดงความเป็นห่วงระดับนโยบาย หากสังคมไทยทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จบเลยสังคมไทย ดังนั้นอยากฝากถึงผู้กำหนดนโยบายขอให้เอาจริงเอาจังกับสิ่งที่เป็นภัยกับคนในสังคม เราต้องให้ความสำคัญกับระบบสุขภาพ รวมไปถึง สิ่งที่เราต้องช่วยทำให้สังคมมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ กระทรวงศึกษาธิการ ต้องไม่ให้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของวิชาสุขศึกษา ทำงานกับครู สถานศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กสู้กับเราด้วยข้อมูล บุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย ดังนั้น หากพรรคการเมืองไหน สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ของให้คนไทยไม่เลือกพรรคการเมืองนั้น
อึ้งเจอเด็กประถมเป็นตัวแทนจำหน่าย
นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่ กล่าวถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นและปัญหาที่เกิดภายในครอบครัวที่น่าเป็นห่วง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัจจุบันเราพบว่า เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายมีการวางขายกันในตลาดนัด ทางออนไลน์ อีกทั้งข้อมูลที่ได้จากการทำงานกับสถานศึกษา การเยี่ยมบ้านของคุณครู พบมีผู้ปกครองสูบบุหรี่ในบ้าน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเด็กและทำให้เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าด้วย จึงอยากให้มีการรณรงค์เรื่องนี้ในครอบครัวอย่างจริงจัง
“หลายครอบครัวพบว่า ลูกสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว การมีเครือข่ายพ่อแม่จะดีมาก อยากให้พ่อแม่ลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียง หรือครอบครัวไหนได้รับผลกระทบจากพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียง บอกถึงพิษภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน ไม่ใช่เรื่องของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง”
ผู้จัดการโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่ ยังให้มุมมองต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้การตรวจค้นบุหรี่ไฟฟ้าของครูในโรงเรียนมีข้อจำกัด เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีการพัฒนารูปแบบต่าง ๆ เหมือนอุปกรณ์เครื่องเขียน จนทำให้ครูไม่ทราบว่า สิ่งของชิ้นไหนที่เด็กนักเรียนพกมาเป็นบุหรี่ไฟฟ้า ที่สำคัญเรายังพบเด็กประถมเป็นตัวแทนจำหน่ายด้วยเหมือนกัน นี่คือเรื่องใกล้ตัวที่ต้องช่วยกัน
ขุดถึง ‘รากลึก’ สูบบุหรี่ไฟฟ้า
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึง พฤติกรรมการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือการใช้สารเสพติดของวัยรุ่นว่า มี ‘ราก’ ลึกมากกว่านั้น เป็นความต้องการของมนุษย์คนหนึ่ง เช่น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ได้รับการยอมรับ แตกต่างจากชีวิตจริง ที่เขาอยากรู้สึกเจ๋ง เท่ห์ เก่ง และหลายครั้งมนุษย์อยากผ่อนคลาย อยากมีความสุข ในเมื่อที่บ้านไม่มีความสงบ พ่อแม่ตีกัน ติดเหล้า หรือไปโรงเรียนก็ถูกบูลลี่ วัยรุ่นจึงวิ่งหาความสุขชั่วคราว วิ่งหาบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อความผ่อนคลาย สบายใจชั่วคราว
ส่วนการป้องกันไม่ให้เด็กไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งเสพติดอื่น ๆ ผศ.พญ.จิราภรณ์ มองว่า ภาวะที่สมองของวัยรุ่นยังเติบโตไม่เต็มที่จึงทำให้การตัดสินใจ การยับยั้งชั่งใจต่าง ๆ อาจจะยังไม่ดี ฉะนั้น การแสดงความเข้าใจ เปิดใจรับฟัง ทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เขาสูบว่ามันตอบสนองความต้องการอะไรในชีวิตของเขา เขามีความคิดความเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า มันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร โดยการพูดคุยให้เป็นบรรยากาศที่พ่อแม่รับฟังด้วยความอยากรู้ อยากทำความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นบรรยากาศแบบตั้งใจจะมาสั่งสอน จับผิด ตำหนิ ซึ่งพ่อแม่สามารถส่งสัญญาณให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่รู้สึกเป็นห่วง แทนเห็นลูกสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วโวยวาย ดราม่า
พร้อมกับฝากไปถึงรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ให้ความสำคัญกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น และเร่งดำเนินการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นสิ่งผิดกฎหมายให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เราควรช่วยกันทำให้การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ไม่ปกติในสังคม มีการวางกติกาสังคมเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ เช่น โรงพยาบาลหรือโรงเรียนแพทย์หลายแห่งในต่างประเทศ ประกาศนโยบายไม่รับคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดยหากสูบต้องเลิกภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยจัดบริการเลิกสูบบุหรี่รองรับ หรืออย่างกรณีบริษัทประกันบางแห่งเริ่มมีกฎไม่รับทำประกันสุขภาพให้กับคนสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้กับเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพเหล่านี้
หลักฐานที่ยืนยัน บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา ยังไม่มีอยู่จริง
ทั้งนี้ ช่วงท้ายของเวที ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ให้ข้อมูลงานวิจัยทิ้งท้าย ถึงผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อระบบทางเดินหายใจ ชี้ว่า 193 รายงาน บอกว่า ความรู้จนถึงปัจจุบัน (2562) ไม่สามารถจะบอกได้ว่า ผลกระทบต่อสุขภาพทางเดินหายใจของบุหรี่ไฟฟ้ามีน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา
ขณะที่สมาพันธ์โรคหัวใจโลก ชี้ว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่พบในคนที่เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และมีอีกงานวิจัยอีกชิ้น ที่ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ากำลังปรากฎผลที่น่าเป็นห่วงต่อสุขภาพ แม้ผลกระทบระยะยาวยังไม่รู้ แต่ความรู้ปัจจุบันที่มีการตีพิมพ์ หลักฐานที่ยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา ยังไม่มีอยู่จริง ฉะนั้น คนขายบุหรี่ไฟฟ้า หรือสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎรที่ออกมายืนยัน บุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย ปลอดภัยนั้น การออกมาแสดงความเห็นแบบนี้ เป็นเรื่องที่ส่งผลเสียมากๆ ต่อการป้องกันโรคที่เกิดจจากบุหรี่ไฟฟ้า
“เราต้องช่วยกันให้ความรู้กว้าง และมากที่สุดเท่าที่ทำได้ เราต้องติดอาวุธให้เยาวชน ให้รู้ให้มากที่สุด ผมไม่ห่วงคนสูบบุหรี่อยู่แล้วมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ผมห่วงเยาวชนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ผมห่วงมาก วัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 30% ”