"บัตรทอง 30 บาท" คุ้มครองแบบ 360 องศา เช็กที่นี่รักษาฟรีครอบคลุมอะไรบ้าง?
สิทธิ "บัตรทอง 30 บาท" รู้หรือไม่ คุ้มครองแบบ 360 องศา เช็กที่นี่รักษาฟรีครอบคลุมอะไรบ้าง?
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง โดยระบว่า ทุกวันนี้สามารถเข้ารับบริการการตรวจ การวินิจฉัย และการรักษาตั้งแต่โรคทั่วไปอย่างโรคไข้หวัด ไปจนถึงการรักษาโรคเรื้อรัง หรือโรคเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคเอชไอวี วัณโรค ฯลฯ อีกทั้ง ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์สามารถรับบริการการคลอดบุตรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งอีกด้วย
มากไปกว่านั้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในกระบวนการรักษา ไม่ว่าจะเป็นค่ายาและเวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาที่มีค่าใช้จ่ายสูงตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ค่าอาหารและค่าห้องสามัญระหว่างการพักรักษาตัวที่หน่วยบริการ แม้กระทั่งกรณีการจัดการการส่งต่อเพื่อรักษาระหว่างหน่วยบริการก็ครอบคลุมด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีบริการทันตกรรมที่ครบวงจรทั้ง อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฟันผุ การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม การเคลือบหลุมร่องฟัน การผ่าฟันคุด ใส่เพดานเทียมเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และการทำฟันปลอมฐานพลาสติก ก็สามารถทำได้ฟรีเลย
รวมไปถึงถ้าใครอยากรับการรักษาแบบการแพทย์แผนไทยก็สามารถทำได้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยมีบริการดังนี้ ยาสมุนไพรหรือยาแผนไทย การนวดเพื่อการรักษาและทับหม้อเกลือ ฟื้นฟูสุขภาพแม่หลังคลอด และการอบหรือประคบสมุนไพรเพื่อการรักษา
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์เพื่อรองรับในส่วนของคนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ซึ่งมีทั้งกายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน ฟื้นฟูการมองเห็น และรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการ โดยจะเป็นไปตามเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรรู้ไว้คือ หากทุกคนไปรับบริการรักษาพยาบาลและได้รับยาจากโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป (มีเตียงนอน 10 เตียงขึ้นไป) จะต้องจ่ายเงินจำนวน 30 บาทต่อครั้ง ยกเว้นบุคคล 20 กลุ่มตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้ที่มีความประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการ 30 บาท สามารถแจ้งความจำนงไม่จ่ายค่าบริการได้ที่หน่วยบริการ
ดูประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ได้ที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/127/T_0021.PDF
4 วิธีเช็คสิทธิรักษาพยาบาล ทำได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง
1.โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 2
2.เว็บไซต์ สปสช. https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml
3.แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิตนเอง
4.ไลน์ สปสช. @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิ