TNN ภัยเงียบใกล้ตัว เช็กสัญญาณเตือน "มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ" พบบ่อยในชายวัย 50 ปีขึ้นไป

TNN

สังคม

ภัยเงียบใกล้ตัว เช็กสัญญาณเตือน "มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ" พบบ่อยในชายวัย 50 ปีขึ้นไป

ภัยเงียบใกล้ตัว เช็กสัญญาณเตือน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ พบบ่อยในชายวัย 50 ปีขึ้นไป

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง หากพบว่ามีอาการผิดปกติเรื้อรัง ควรรีบปรึกษาแพทย์

วันนี้ (20 พ.ค.65) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นมะเร็งที่เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผนังด้านในของกระเพาะปัสสาวะ มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และพบบ่อยในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป 

จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทยโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าแต่ละปีมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพศชายและเพศหญิงรายใหม่ประมาณ 1,900 และ 600 ราย ตามลำดับ 

สำหรับสาเหตุการเกิดโรคนั้น ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดแต่พบว่ามีหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เช่น การสูบบุหรี่ การสัมผัสสารเคมี การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะหรือติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะแบบเรื้อรัง การระคายเคืองและการอักเสบเนื่องจากก้อนนิ่ว เป็นต้น 

ภัยเงียบใกล้ตัว เช็กสัญญาณเตือน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ พบบ่อยในชายวัย 50 ปีขึ้นไป

ด้าน นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า อาการทั่วไปของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะปนเลือดโดยไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย ปวดเบ่งขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย แสบ ขัด หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เรื้อรัง เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นหากพบอาการผิดปกติเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง

สำหรับการรักษานั้นประกอบด้วยหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสุขภาพของผู้ป่วย โดยทั่วไปผู้ป่วยในระยะที่โรคยังไม่ลุกลาม การรักษาหลักคือการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะไปตัดเนื้องอกออก 

กรณีที่มะเร็งลุกลามแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดและการใช้รังสีรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรค 

แม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัดแต่เราสามารถป้องกันการเกิดโรคจากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น รวมถึงการหมั่นสังเกตร่างกายและพบแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติอาจทำให้พบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคได้.


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์

ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ข่าวแนะนำ