รมว.แรงงาน แจงสิทธิประโยชน์ประกันสังคม กองทุนชราภาพเป็นหลักประกันกู้ยืมเงินได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ "ประกันสังคม" กรณีชราภาพ 3 ขอ คือ "ขอเลือก ขอคืน ขอกู้" ยืนยันเป็นการแก้ไขให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตน ซึ่งมาตรการทั้งหมดได้มีการวางแผนทางการเงินของกองทุนประกันสังคมให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระการเงินการคลังที่อาจเกิดขึ้นแก่รัฐในอนาคต
วันนี้ (11 พ.ค.65) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ 3 ขอ หลังจากวานนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพิ่มเติมเงื่อนไขของการเป็นผู้ประกันตนและสิทธิประโยชน์ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
นายสุชาติ ยืนยัน เป็นการแก้ไขให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตน ซึ่งมาตรการทั้งหมดนั้นได้มีการวางแผนทางการเงินของกองทุนประกันสังคมให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระการเงินการคลังที่อาจเกิดขึ้นแก่รัฐในอนาคต
และกำหนดแนวทางหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ตลอดจนสัดส่วนหรืออัตราควรคำนึงถึงความเสี่ยงความเสียหาย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมเป็นสำคัญ
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ฉบับนี้ เช่น การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนสูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้
การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ 3 รูปแบบ ได้แก่ "ขอเลือก" ที่ให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้
"ขอคืน" คือ กรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใด อันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้
และ "ขอกู้" คือ การนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้แก่
- เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร จากเดิมจ่าย 90 วัน เป็น 98 วัน
- เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ จากเดิมจ่ายร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70
- กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน
ภาพจาก TNN ONLINE