เช็กอาการ-พฤติกรรมเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งช่องปาก พร้อมแนะวิธีป้องกัน
มะเร็งช่องปากเป็นอีกหนึ่งโรคมะเร็งที่มีปัจจัยเสี่ยงมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งในช่องปาก เช่น ลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก พื้นใต้ลิ้น และต่อมทอนซิล
วันนี้ (25 เม.ย.65) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งช่องปากเกิดขึ้นจากความผิดปกติของการพัฒนาเซลล์ในช่องปาก แม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของความผิดปกติดังกล่าว แต่พบว่ามีปัจจัยบางประการที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งช่องปากได้ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า การเคี้ยวหมาก การติดเชื้อไวรัส Human papilloma virus (HPV) หรือการมีแผลเรื้อรังในช่องปาก เป็นต้น
อาการส่วนใหญ่ของมะเร็งในช่องปากพบได้หลายลักษณะ เช่น การมีฝ้าขาวๆ ที่บริเวณใต้ลิ้น เหงือก พื้นช่องปาก เมื่อมีอาการเรื้อรังเป็นเวลานานรอยฝ้านั้นอาจนูนขึ้นเป็นก้อน หรือกรณีเกิดแผลจะมีลักษณะคล้ายอาการร้อนในแต่จะมีอาการเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน
มีเลือดไหลในช่องปากโดยไม่ทราบสาเหตุ มะเร็งของลิ้นหรือลำคอในบางตำแหน่งอาจทำให้เกิดการเจ็บในหูขณะกลืนอาหารได้เนื่องจากมีเส้นประสาทร่วมกัน หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ในระยะไม่ลุกลาม
ด้าน นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ การรักษามะเร็งช่องปากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะของโรคที่แพร่กระจายหรือบริเวณที่เกิดโรคของผู้ป่วย ขนาดของมะเร็ง รวมถึงสุขภาพของผู้ป่วยซึ่งทีมแพทย์จะช่วยวางแผนการรักษาโดยอาจมีการผสมผสานวิธีการรักษาหลายวิธี
เช่น การผ่าตัด การทำเคมีบำบัด และรังสีรักษา อย่างไรก็ตามกระบวนการรักษาโรคสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้แล้วแต่กรณี ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ในบางครั้งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เช่น อาการกลืนลำบาก และมีปัญหาในการพูด เป็นต้น
แม้ว่ามะเร็งช่องปากจะเป็นอีกหนึ่งโรคมะเร็งที่หลายคนกลัว แต่มะเร็งช่องปากก็เป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ หรือสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยเริ่มต้นง่าย ๆ จากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ
รวมถึงดูแลใส่ใจสุขอนามัยช่องปากและฟันของตนเองเป็นประจำทุกวัน จัดตารางสุขภาพพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก ทุก ๆ 6 เดือน หากพบความผิดปกติในช่องปากอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์ การส่องกล้อง และการตรวจยืนยันด้วยการตัดชิ้นเนื้อตรวจพิสูจน์.
ข้อมูลจาก กรมการแพทย์
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP