เปิดวิธีตรวจ "เส้นสีน้ำตาลในเล็บ" แบบไหนถึงเสี่ยงอาจเป็น “โรคมะเร็ง”
สมาคมแพทย์ผิวหนังฯเปิดข้อมูลการเกิดเส้นสีน้ำตาลในเล็บและวิธีการสังเกตแบบไหนอาจเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต้องรีบพบแพทย์
วันนี้ ( 2 เม.ย. 65 ) สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความของอ.พญ.ชนิตว์วัณณ์ วิชญชาคร และ ผศ.พญ.แพรมาลา ฉายาวิจิตรศิลป์ ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงมะเร็งผิวหนังในเล็บผ่านเพจ ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง โดย สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า จากกระแสที่เป็นข่าวเกี่ยวกับโรคมะเร็งผิวหนังที่เกิดขึ้นในเล็บ ทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวล ที่จริงแล้วมะเร็งที่อยู่ใต้เล็บสามารถพบได้ในชาวเอเชียหรือ คนผิวดำแต่ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่เล็บที่มีแถบสีดำขึ้นมักจะยังไม่ถึงขั้นที่เข้าข่ายเป็นเนื้อร้าย แต่การตรวจดูเล็บเป็นประจำจะสามารถช่วยให้เราไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เร็วขึ้น และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็วก่อนที่จะมีการลามไปที่อวัยวะอื่น
วิธีการตรวจเล็บด้วยตัวเองสามารถยึดหลักง่าย ๆ ดังนี้
1.แถบหรือเส้นสีน้ำตาลวิ่งตามความยาวของเล็บ: ตรวจดูว่าแถบสีน้ำตาลนั้นคมชัดดีหรือไม่ ถ้าคมชัดดีและมีความกว้างไม่เกิน 6 มม. ถือว่าโอกาสที่จะเป็นมะเร็งค่อนข้างต่ำมาก หากแถบสีมีความกว้าง สีไม่สม่ำเสมอ ขอบไม่คมชัด หรือ มีการเปลี่ยนสีและขนาด แนะนำว่าควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเร็วที่สุด
2.เม็ดสีบนจมูกเล็บ: หากสีน้ำตาลหรือดำเลอะขึ้นมาถึงจมูกเล็บ (Hutchinson’s sign) มักเป็นสัญญาณที่ไม่ดี และ ควรไปพบแพทย์
3.ก้อนเนื้อใต้เล็บ: อาจทำให้เล็บแยกออกจากฐานด้านล่าง ถ้าสังเกตเห็นว่าเล็บมีลักษณะนี้แนะนำว่าควรพบแพทย์เช่นกัน
การที่เล็บมีสีผิดปกติสามารถเกิดจากอะไรได้บ้างนอกจากมะเร็งผิวหนัง
การที่เล็บมีสีผิดปกติไม่จำเป็นต้องเกิดจากมะเร็งผิวหนังเสมอไป สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เล็บเปลี่ยนสีได้ มีดังนี้
1.แถบเล็บดำที่เป็นหลาย ๆ นิ้ว อาจเกิดจาก
- เม็ดสีปกติในผู้ที่มีสีผิวเข้ม
- ผิวหนังอักเสบรอบ ๆ เล็บ สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของเล็บได้
- อาจเป็นผลจากยาบางชนิดเช่น Azidothymidine (AZT) เป็นต้น
2.ภาวะเลือดออกใต้เล็บ: มักเกิดในเล็บที่ได้รับการกระแทกบ่อย เช่น เล็บเท้าในกรณีที่ออกกำลังกายบ่อย เป็นต้น ภาวะนี้ส่วนใหญ่จะทำให้เล็บมีสีแดงเข้ม หรือ น้ำตาลเข้ม
3.ภาวะเล็บเขียว: เกิดจากการติดเชื้อ แบคทีเรีย หรือเชื้อรา มักเกิดในเล็บมือที่มีการใช้บ่อย เช่น ในบุคคลที่ทำงานบ้านเป็นหลัก และ มือมีการเปียกชื้นตลอดเวลา เป็นต้น
การรักษา
ถึงแม้ในคนไทยจะพบมะเร็งชนิดนี้ได้ไม่บ่อยเท่ามะเร็งผิวหนังชนิดอื่น แต่อาจมีความรุนแรงสูงทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากมีการลุกลามเข้าอวัยวะภายในอย่างรวดเร็ว เช่น ปอด และสมอง
มะเร็งชนิดนี้สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดมะเร็งผิวหนัง และ ผิวหนังบริเวณใกล้เคียงออกเป็นบริเวณกว้าง ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออกด้วย นอกจากนั้นอาจต้องให้การรักษาด้วยยา หรือการฉายรังสีร่วมกับการผ่าตัด
ข้อมูลจาก : เพจ ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง โดย สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : เพจ ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง โดย สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย