ดีอี ลงโทษหนักมิจฉาชีพร้านค้าออนไลน์-หลอกเหยื่อโอนเงินซื้อกระเป๋าสูญเงิน 10 ล้าน
“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้เสียหายเหยื่อเพจสินค้าแบรนด์เนม ออนไลน์ มูลค่าความเสียหายกว่า10 ล้านบาท ประกาศใช้ 2 กฎหมายลงดาบมิจฉาชีพร้านค้าออนไลน์ ทั้ง พ.ร.บ.คอมพ์ฯ มาตรา 14 (1) และกฎหมายอาญา มาตรา 341 ฐานฉ้อโกง
วันนี้ (18 ก.พ. 65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และว่าที่ พ.ต.อ.ศุภรฐโชติ จำหงส์ ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (บก.สอท.1) ร่วมกันแถลงข่าว “การรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายที่สั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมออนไลน์แต่ไม่ได้รับสินค้า” ภายหลังมีผู้เสียหาย 8 ราย จากจำนวนผู้เสียหาย 39 รายรวมตัวกันเดินทางมาร้องเรียนที่กระทรวงดิจิทัลฯ บางรายได้เข้าแจ้งความไว้แล้ว
โดย ผู้เสียหายได้สั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมจากเพจ The Sandy Brand แล้วไม่ได้รับสินค้า ครอบคลุมตั้งแต่ราคาหลักหมื่นถึงหลักแสน รวมมูลค่าความเสียหายไม่ตำ่กว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียหายอีกหลายรายกำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อเข้าแจ้งความเพิ่มเติมด้วย
โดย นาย ชัยวุฒิ ระบุ ว่า เบื้องต้นต้องดำเนินการปิดเว็ป เเละเอาผิดกับกรณีนี้เป็นการเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อและขอเตือนมิจฉาชีพพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ว่า ปัจจุบันเรามีกฎหมายที่กำกับดูแลในเรื่องนี้อยู่ โดยผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) พร้อมภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะเร่งดำเนินการติดตามผู้กระทำเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหาย และป้องกันไม่ให้ประชาชนรายอื่นๆ เป็นเหยื่อกลโกงของผู้ค้าออนไลน์ในลักษณะนี้
เพราะนี่คือปัญหาใหญ่ของการซื้อขายออนไลน์ ที่นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ดีอีเอส และ ETDA รีบจัดการแก้ปัญหา เพราะพบว่ามีการทำกันเป็นขบวนการหลอกลวงผู้เสียหายจำนวนมาก สุดท้ายจะทำให้ความเชื่อมั่นต่อธุรกิจออนไลน์เสียหายไปทั้งระบบ
โดยส่วนความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
และถ้าการกระทำความผิดข้างต้นมิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 14 วรรคท้าย
นอกจากนี้ ผู้หลอกขายยังมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ โดยการทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ หรือความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนมาตรา 343 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ โดยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน แล้วแต่กรณีอีกด้วย
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า สำหรับในส่วนของประชาชน และผู้บริโภค ต้องเร่งสร้างความรู้เท่าทันกลโกงของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยแนะนำจุดสังเกตมิจฉาชีพร้านค้าออนไลน์ก่อนตกเป็นเหยื่อ ดังนี้ 1. ตรวจสอบประวัติผู้ขาย และรีวิวร้านค้า นำชื่อผู้ขาย เลขบัญชี หรือ เบอร์โทรศัพท์ค้นหาใน google หากมีประวัติการหลอกลวง จะมีคนพูดถึงรายละเอียดการโกง 2. ราคาถูกเกินจริง เช็คราคาท้องตลาด อย่าเห็นแก่ของถูก
3. หลอกให้โอนเงินทันที พยายามโน้มน้าวใจให้ผู้ซื้อรีบโอนเงินก่อนพลาดโอกาสได้ของดีราคาถูก 4. วิธีการสั่งซื้อและวิธีการจัดส่งไม่ชัดเจน ร้านค้าส่วนใหญ่มักจะมีการจัดส่งที่ชัดเจน มีให้เลือกหลายช่องทาง รวมถึงมีบริการเก็บเงินปลายทาง และนัดรับสินค้า
ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC เมื่อสิ้นปี 64 พบว่า เกือบ 80% ของข้อร้องเรียนปัญหาซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ คือ ไม่ได้รับสินค้า และสินค้าไม่ตรงปก โดยประเภทสินค้าที่มีการร้องเรียรนมากสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไอทีและสินค้าแฟชั่น ครองสัดส่วนรวมกันเกือบ 50%
โดยช่องทางการซื้อขายที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก คิดเป็น 82.1% ตามมาด้วย เว็บไซต์ อินสตาแกรม แพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลส ไลน์ ทวิตเตอร์ และยูทูบ ตามลำดับ
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ เปิดช่องทางให้ประชาชนที่พบเบาะแส หรือปัญหาจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ สามารถร้องเรียน ขอคำปรึกษา หรือแจ้งเบาะแสเข้ามาได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ผ่านช่องทาง ดังนี้ สายด่วนโทร. 1212 อีเมล์ [email protected] เว็บไซต์ 1212OCC.com เพจเฟซบุ๊ก : ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC และสำนักงานสถิติจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งยังสามารถแจ้งได้ผ่านกล่องข้อความของเพจอาสาจับตาออนไลน์ที่ https://m.facebook.com/DESMonitor/