สธ.เร่งแก้เด็กเกิดน้อยลง หวั่นไม่พอทดแทนวัยแรงงาน
สธ.เผยไทยเผชิญปัญหาสัดส่วนประชากรเด็ก-วัยทำงานลดลง ส่อส่งผลกระทบประเทศในอนาคต
วันนี้ ( 14 ก.พ. 65 )กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลว่าปัจจุบันสังคมไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร โดยสัดส่วนวัยเด็ก วันทำงานลดลง ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงเร่งผลักดันมาตรการเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการเกิดของเด็กอย่างมีคุณภาพ โดยสาเหตุหลักๆที่ส่งผลต่อการทำให้เด็กเกิดน้อย คือ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่เรียนสูงขึ้น แต่งงานช้า มีค่านิยมอยู่เป็นโสด รักความอิสระ มีความหลากหลายทางเพศ มองการมีบุตรเป็นภาระเพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลสูงเกินไป และต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ทำให้ประชาชนชะลอการการมีบุตรลง
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัญหาโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจำเป็นต้องเร่งแก้ไข หาทางออก ผลักดันการมีบุตรในกลุ่มวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลักดันมาตรการสำคัญเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ เช่น ให้สิทธิตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์ในทุกกลุ่มอายุและทุกการตั้งครรภ์ คัดกรองธาลัสซีเมียในคู่หญิงตั้งครรภ์ ตรวจเลือดคัดกรองเบาหวานในกลุ่มอายุ 25-59 ปี และตรวจคัดกรองซิฟิลิส ขณะเดียวกันยังมีมาตรการที่อยู่ระหว่างเร่งผลักดันด้วย คือ ให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ ส่งเสริมจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อลดภาระและความกังวลใจให้กับพ่อแม่ระหว่างทำงาน
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า นอกจากปัจจัยพื้นฐานการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมที่ส่งผลต่อการชะลอการมีบุตรแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะการประกาศใช้นโยบายวางแผนครอบครัวแห่งชาติมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2513 ส่งผลในจำนวนเด็กเกิดปี 2562 ลดต่ำกว่า 600,000 คนเป็นครั้งแรก จนปัจจุบันจำนวนเด็กเกิดเหลือเพียง 544,570 คน ซึ่งเป็นการลดต่ำที่สุดนับตั้งแต่ประกาศนโยบายวางแผนครอบครัวอย่างเป็นทางการ จึงต้องเร่งแก้ปัญหาส่งเสริมการมีบุตร เพราะหากจำนวนการเกิดยังลดลงต่อเนื่อง จะกระทบต่อประเทศในอนาคต ทั้งเรื่องโครงสร้างประชากร โครงสร้างครอบครัว สังคม ไปเศรษฐกิจ จนถึงความมั่นคงของประเทศ
ภาพจาก : AFP