TNN ลุ้นชมดาวหางยักษ์ “แอตลัส G3” ปีหน้า ปรากฏบนฟากฟ้าเดือนมกราคม

TNN

วิทยาศาสตร์

ลุ้นชมดาวหางยักษ์ “แอตลัส G3” ปีหน้า ปรากฏบนฟากฟ้าเดือนมกราคม

ลุ้นชมดาวหางยักษ์ “แอตลัส G3” ปีหน้า ปรากฏบนฟากฟ้าเดือนมกราคม

สดร. เผยปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์สำคัญปีหน้า 2568 ในเดือนมกราคม ลุ้นชมดาวหางดวงใหม่ “แอตลัส G3” ที่คล้ายกับดาวหางจื่อจินซาน

วันนี้ ( 27 ธ.ค. 67 )สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เชิญชวนติดตามปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์สำคัญปีหน้า 2568 ในเดือนมกราคม โดยจะได้มลุ้นชมดาวหางดวงใหม่ ที่คล้ายกับดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ที่เราได้ชมในปีนี้


โดย สดร. ระบุว่า ดาวหางดวงนี้มีชื่อว่า “ดาวหางแอตลัส G3” หรือ “Comet C/2024 G3 (ATLAS)” ค้นพบเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS ที่ขณะนี้กำลังโคจรเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นใน และกำลังมีความสว่างเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงต้นเดือนมกราคม 2568 อาจสว่างใกล้เคียงเทียบเท่าดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ที่เราเพิ่งได้ชม ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 


ทั้งนี้ ในขณะที่ถูกค้นพบ ดาวหางแอตลัส G3 มีค่าแมกนิจูดใกล้เคียงกับดาวพลูโต และอยู่ห่างจากโลก 4.4 หน่วยดาราศาสตร์ แต่ข้อมูลจากการสังเกตการณ์ ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2567 พบว่า แอตลัส G3 สว่างมากขึ้น ใกล้เคียงกับดาวเนปจูน ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่อง 


ซึ่งดาวหางจะสว่างมากขึ้นอีกขณะมุ่งหน้าสู่ระบบสุริยะชั้นใน และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 13 มกราคม 2568 ที่ระยะห่าง 13.5 ล้านกิโลเมตร (ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าระยะห่างเฉลี่ยของดาวพุธจากดวงอาทิตย์ถึง 4 เท่า) ช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงที่ดาวหางมีความสว่างมากที่สุด 


และหากแอตลัส G3 ฝ่าความร้อนจากดวงอาทิตย์โดยไม่แตกหรือสลายตัวเสียก่อน ก็อาจสว่างมากขึ้นอีก เหมือนกับดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อเดือนตุลาคม 2567 แต่แอตลัส G3 จะมีตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มาก ทำให้การตามชมอาจทำได้ยาก เนื่องจากมีแสงของดวงอาทิตย์รบกวน 


ทั้งนี้ยังมีการคำนวณวงโคจรของดาวหางแอตลัส G3 บ่งชี้ว่า ดาวหางแอตลัส G3 อาจเคยโคจรเข้ามาระบบสุริยะชั้นในแล้วเมื่อ ประมาณ 135,000 - 160,000 ปีก่อน


ข้อมูลจาก: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 

ภาพจาก: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง