TNN พิษเอลนีโญสภาพอากาศเปลี่ยนกระทบ ‘วาฬสีน้ำเงิน’ ส่งผลเสียระบบนิเวศ

TNN

วิทยาศาสตร์

พิษเอลนีโญสภาพอากาศเปลี่ยนกระทบ ‘วาฬสีน้ำเงิน’ ส่งผลเสียระบบนิเวศ

พิษเอลนีโญสภาพอากาศเปลี่ยนกระทบ ‘วาฬสีน้ำเงิน’ ส่งผลเสียระบบนิเวศ

ผู้เชี่ยวชาญในออสเตรเลียเตือน อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น ส่งผลให้การอพยพของวาฬสีน้ำเงินล่าช้าลง กระทบระบบนิเวศ

วันนี้ ( 15 พ.ย. 66 ) คาเรน เอดีเวน นักชีววิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับวาฬสีน้ำเงินเล็ก สายพันธุ์ย่อยของวาฬสีน้ำเงิน ที่สามารถเติบโตจนยาวได้ถึง 24 เมตร ซึ่งอพยพผ่านชายฝั่งติมอร์ เลสเตช้าลงจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ


ทุก ๆ ปี วาฬสีน้ำเงินเล็กมักอพยพไปทางใต้ เป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร จากแหล่งเพาะพันธุ์นอกชายฝั่งอินโดนีเซีย ผ่านติมอร์ เลสเต ไปจนถึงน่านน้ำของออสเตรเลียในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน แต่น่ากังวลอย่างยิ่งหลังจากที่ไม่พบวาฬสักตัวในช่วงหกสัปดาห์ที่ผ่านมาในติมอร์ เลสเต


เอดีเวน ซึ่งเป็นอดีตนักวิทยาศาสตร์อาวุโสของรัฐบาล และสมาชิกคณะกรรมการพื้นที่อนุรักษ์ในระดับโลกขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ชี้ว่า การอพยพที่ล่าช้าเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สิ่งนี้คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อสมุทรศาสตร์ของภูมิภาคดังกล่าว และกระทบต่อระบบนิเวศ


การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กำลังส่งผลกระทบต่อการอพยพของวาฬสีน้ำเงิน เลื่อนฤดูกาลอพยพออกไป 4-6 สัปดาห์ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกมัน โดยสังเกตพบวาฬตัวที่ขาดสารอาหาร ขณะอพยพสู่ทางใต้ในปี 2022 ซึ่งเธอมองว่าอาจเป็นผลมาจากอุณหภูมิน้ำอุ่นในมหาสมุทร


สำนักอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลีย ประกาศเฝ้าระวังปรากฏการณ์เอลนีโญในภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งภัยพิบัติดังกล่าวเชื่อมโยงกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งขึ้นในออสเตรเลีย แต่ในภาพรวมจะทำให้อุณหภูมิในมหาสมุทรทางตอนเหนือเย็นลง ซึ่งเอดีเวนกล่าวว่าน่าจะช่วยเพิ่มแหล่งอาหารให้แก่วาฬเหล่านี้


ภาพ: AFP 

ข่าวแนะนำ