TNN ฤดูร้อนปี 66 นาซาเปิดข้อมูล “ร้อนที่สุดของโลก” ในรอบ 140 ปี

TNN

วิทยาศาสตร์

ฤดูร้อนปี 66 นาซาเปิดข้อมูล “ร้อนที่สุดของโลก” ในรอบ 140 ปี

ฤดูร้อนปี 66 นาซาเปิดข้อมูล “ร้อนที่สุดของโลก” ในรอบ 140 ปี

ฤดูร้อนปี 66 นาซาเปิดข้อมูล “เป็นฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดของโลก” นับตั้งแต่เริ่มบันทึกสถิติในปี 2423 หรือ 140 ปี

วันนี้ ( 16 ก.ย. 66 )องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา (NASA) ประกาศว่า ฤดูร้อนปี 2566  เป็นฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดของโลก นับตั้งแต่เริ่มเก็บบันทึกสถิติในปี 2423 หรือกว่า 140 ปี ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม สูงกว่าฤดูร้อนปีก่อนๆ ประมาณ 0.23 องศาเซลเซียส


โดยเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิตลอดทั้งเดือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ฤดูร้อนปีนี้ ถือเป็นฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดของซีกโลกเหนือ


นาซา ระบุว่า การที่ฤดูร้อนที่ผ่านมาร้อนเป็นประวัติการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบอย่างรุนแรง และภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้เกิดคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น ยุโรป อเมริกาใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทั้งยังทำให้เกิดไฟป่าร้ายแรงในประเทศแคนาดา และรัฐฮาวาย สหรัฐฯ และฝนตกหนักในอิตาลี กรีซ ตอนกลางของทวีปยุโรป และเอเชีย นอกจากนี้ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลระหว่างเดือน มิถุนายน ถึงสิงหาคม ก็สูงขึ้นเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ


ขณะที่กองอำนวยการด้านอุตุนิยมวิทยาของตุรกี รายงานว่า ตุรกีเผชิญเดือนสิงหาคมที่แห้งแล้งที่สุดในรอบ 33 ปี ปริมาณฝนลดลงถึงร้อยละ 57 ส่งผลกระทบขยายวงกว้าง


โดยเฉพาะในภูมิภาคทะเลมาร์มารา ทางตะวันตกเฉียงเหนือ หรือที่รู้จักในฐานะยุ้งฉางของตุรกี มีปริมาณน้ำฝนลดลงร้อยละ 74 และลดลงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2565


ภูมิภาคนี้ยังเป็นที่ตั้งของนครอิสตันบูล เมืองขนาดใหญ่ที่สุดของตุรกี ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำมากกว่า 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยระดับน้ำในเขื่อน 10 แห่งของอิสตันบูลลดลงเหลือร้อยละ 26.57 และเมืองแห่งนี้กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง


 ภาพจาก :  AFP 

ข่าวแนะนำ