TNN ดาวหางใหม่! รอชม “ดาวหางนิชิมูระ” เพิ่งถูกค้นพบเข้าใกล้โลก 12 ก.ย. นี้

TNN

วิทยาศาสตร์

ดาวหางใหม่! รอชม “ดาวหางนิชิมูระ” เพิ่งถูกค้นพบเข้าใกล้โลก 12 ก.ย. นี้

ดาวหางใหม่! รอชม “ดาวหางนิชิมูระ” เพิ่งถูกค้นพบเข้าใกล้โลก 12 ก.ย. นี้

อย่าพลาดรอชม ดาวหางใหม่ “ดาวหางนิชิมูระ” เพิ่งถูกค้นพบเมื่อเดือนที่แล้ว เฉียดเข้าใกล้โลก 12 ก.ย. นี้

วันนี้ ( 9 ก.ย. 66 )ดาวหาง C/2023 P1  “ดาวหางนิชิมูระ” ที่ถูกค้นพบเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ กำลังจะโคจรเฉียดโลกในวันที่ 12 กันยายนนี้ และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 17 กันยายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีความสว่างมากที่สุด และยังมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากเพียงพอ อาจสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงหัวค่ำของวันดังกล่าว


“ดาวหางนิชิมูระ” ค้นพบครั้งแรกโดย ฮิเดโอะ นิชิมูระ (Hideo Nishimura)” นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 2023 โดยเขาใช้กล้องโทรทรรศน์ถ่ายภาพท้องฟ้าในช่วงรุ่งเช้า แล้วพบว่ามีวัตถุท้องฟ้าบางอย่างที่ไม่สามารถระบุได้บริเวณ กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ติดมาในภาพ และเมื่อกลับไปตรวจสอบภาพถ่ายในวันก่อนหน้า ก็พบวัตถุเดียวกันนี้ แต่มีการเปลี่ยนตำแหน่งเปลี่ยนไปเล็กน้อย จึงคาดว่าน่าจะเป็นดาวหางดวงใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบ 


ฮิเดโอะ นิชิมูระ ได้ส่งข้อมูลไปยัง Minor Planet Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะช่วยตรวจสอบและยืนยันการค้นพบวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะอย่างเป็นทางการ และได้รับการยืนยันในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2023 จึงกำหนดชื่อดาวหางดวงนี้อย่างเป็นทางการว่า “C/2023 P1 (Nishimura)”  จัดเป็นดาวหางคาบยาวที่มีแหล่งที่มาจากเมฆออร์ต (Oort Cloud) มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 437 ปี โดยขณะนี้กำลังโคจรเข้าใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ และจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2023


ดาวหางใหม่! รอชม “ดาวหางนิชิมูระ” เพิ่งถูกค้นพบเข้าใกล้โลก 12 ก.ย. นี้


ดูดาวหางนิชิมูระตอนไหน ?


ในช่วงรุ่งเช้าทางทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ของวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 2023 ดาวหางจะมีตำแหน่งปรากฏอยู่บริเวณกลุ่มดาวสิงโต (Leo) บริเวณใกล้กับดาวเรกูลัส (Regulus) ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 20 องศา ทำให้มีระยะเวลาสังเกตการณ์ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น และจากข้อมูลล่าสุดชี้ว่า ขณะนี้ดาวหางมีค่าความสว่างปรากฏ 5.2 สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่ไร้มลภาวะทางแสง 


ในช่วงวันถัดมาหลังจากนี้ แม้ดาวหางจะโคจรเข้ามาใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ขณะเดียวกันดาวหางก็จะมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำให้ยิ่งมีเวลาในการสังเกตการณ์น้อยลงเรื่อย ๆ และในวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 2023 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด ด้วยระยะห่าง 125 ล้านกิโลเมตร แต่ก็เป็นช่วงที่ดาวหางมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มาก ทำให้ยากต่อการสังเกตการณ์ 


หลังจากวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 2023 ดาวหางจะเปลี่ยนมาปรากฏทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ และมีมุมปรากฏบนท้องฟ้าห่างออกจากดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ  เริ่มเคลื่อนตำแหน่งออกจากกลุ่มดาวสิงโต (Leo)  จนกระทั่งในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2023 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดด้วยระยะห่าง 34 ล้านกิโลเมตร (ใกล้กว่าวงโคจรของดาวพุธประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์) และจะยิ่งมีความสว่างมากขึ้น โดยเว็บไซต์ Comet Observation database (COBS) คาดการณ์ว่า ดาวหางอาจมีค่าความสว่างปรากฏได้มากถึง 3.0 [1] ซึ่งเป็นค่าความสว่างปรากฏที่สามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ไม่ยากนัก


ในวันที่ 17 กันยายนนี้ จะสามารถสังเกตการณ์ดาวหางได้ในกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 10 องศา มีเวลาสังเกตการณ์เกือบ 1 ชั่วโมงก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไป ซึ่งหลังจากนี้ดาวหางจะค่อย ๆ โคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ และมีความสว่างลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้อีก และจะโคจรกลับเข้ามาเฉียดโลกและดวงอาทิตย์อีกครั้งในอีกกว่า 400 ปีข้างหน้า


ข้อมูลจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

 ภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวแนะนำ