คกก.ผู้พิการฯ เคาะขยายเวลาพักชำระหนี้ กู้ยืมฉุกเฉิน จ่อเปิด รพ.สนามผู้พิการ
คณะกรรมการผู้พิการแห่งชาติ เคาะขยายเวลาพักชำระหนี้-กู้ยืมเงินฉุกเฉิน-อายุบัตรผู้พิการคุ้มครองสวัสดิการ เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามผู้พิการ พร้อมเสนอ ศบค.ในการเข้าถึงวัคซีน
วันนี้ (13 พ.ค.64) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ซึ่งมติที่ประชุมเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้พิการภายใต้สถานการณการแพร่ระบาดโควิด19 กล่าวคือ
1.ขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้เงินกู้ยืมประกอบอาชีพของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ถึงวันที่ 31 มี.ค. ปีหน้า จากที่ต้องสิ้นสุด 31 มี.ค. 64
2.ขยายเวลาการยื่นขอกู้ยืมเงินจากกองทุนฯ กรณีฉุกเฉิน ที่ให้กู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย ปลอดชำระหนี้ จากที่จะหมดเขต สิ้นเดือนนี้ เป็นถึง 30 ก.ย. 64
ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอกู้ของแต่ละราย ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน นับแต่วันยื่นเรื่อง เพราะที่ผ่านมามีการดำเนินการที่ล่าช้า ทำให้ผู้พิการจำนวนมากเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ มีผู้พิการที่รอการพิจารณาเงินกู้ฉุกเฉิน อยู่ 1.2 หมื่นราย
3.แก้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯให้องค์กรผู้พิการสามารถเป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของผู้พิการได้ เพื่อเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการกู้ยืมเงินกองทุนฯได้มากขึ้น
4.ขยายเวลาอายุบัตรประจำตัวผู้พิการออกไป 6 เดือน เพื่อไม่ให้ผู้พิการที่บัตรฯจะหมดอายุในช่วงสถานการณ์โควิด19 ต้องลำบากในการเดินทางมาต่ออายุบัตร และเป็นการรักษาสิทธิและสวัสดิการคนพิการแม้บัตรจะหมดอายุก็ตาม ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวน 5 หมื่นคน
5.เสนอต่อ ศบค.พิจารณาจัดลำดับความสำคัญการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มผู้พิการที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ และไม่มี 7 โรคเสี่ยงเรื้อรัง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 8 แสนคน
6.มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเผยแพร่คู่มือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 สำหรับคนพิการ
นอกจากมติที่ประชุมฯ ดังกล่าว นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า รองนายกฯ ยังได้ติดตามการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้พิการ ซึ่งจะใช้สถานที่ อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 220 เตียง มีล่ามภาษามือ การดูแลพิเศษ และเปิดให้ผู้ดูแลผู้พิการเข้าพักได้ด้วย
โดยเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และในวันที่ 26 พ.ค. นายจุรินทร์ และกรรมการฯ จะไปตรวจความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม ที่คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ วันที่ 1 มิ.ย.