เปิดรายละเอียดสำคัญ "นโยบายเร่งด่วน" 52 หน้า นายกรัฐมนตรีเตรียมแถลงต่อรัฐสภา
เปิดรายละเอียดสำคัญ "นโยบายเร่งด่วน" 52 หน้า นายกรัฐมนตรีเตรียมแถลงต่อรัฐสภา 11 กันยายน 2566 เนื้อหาสำคัญเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย
เปิดรายละเอียดสำคัญ "นโยบายเร่งด่วน" 52 หน้า นายกรัฐมนตรีเตรียมแถลงต่อรัฐสภา 11 กันยายน 2566 เนื้อหาสำคัญเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จัดคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เพื่อแถลงต่อรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยมีทั้งสิ้น 52 หน้า มีเนื้อหาสำคัญระบุถึงนโนบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการก่อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดการลงทุน และฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจ
นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (เงินดิจิทัล)
- จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
- เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
- และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ และภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ
- เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ
- รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี
ที่สำคัญ การดำเนินนโยบายนี้จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ เปิดประตูให้ภาคธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล การกระตุ้นเศรษฐกิจที่กล่าวไปเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
1. นโยบายแรก คือ การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
- จะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม
- มาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
- มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มอื่น ๆ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรมของผู้มีภาระหนี้สิน
2. นโยบายเร่งด่วนถัดมา คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน
- สนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที
- ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ วางแผนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน
- เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง
- สำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม
- สนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ภายใต้กลไกตลาด
3. นโยบายที่สาม คือ รัฐบาลจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
- ตั้งเป้าว่าจะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยว ด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย
- การจัดหา Fast Track VISA สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ และเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงสิ้นปี
- ร่วมกับภาคธุรกิจในทุกภาคส่วนเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก
- ปรับปรุงระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ปรับปรุงสนามบินและจัดการเที่ยวบินของสนามบินทั่วประเทศ
- แก้ปัญหาการทุจริต การเอาเปรียบนักท่องเที่ยว สร้างความมั่นใจ และความประทับใจกับประเทศไทยในระยะยาว
4. และนโยบายเร่งด่วนสุดท้าย คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
- ยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์
- จะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญ กับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน
- หารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
ทั้งนี้ ถ้อยคำแถลงที่นายกรัฐมนตรีจะแถลงต่อรัฐสภานี้ เป็นการวางกรอบนโยบายบริหารประเทศ
- ระยะสั้นเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจการใช้จ่าย
- ระยะกลางและระยะยาว เพิ่มขีดความสามารถ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ซึ่งเตรียมจะแถลงต่อรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ต่อไป
ภาพจาก Thaigov