“จุรินทร์” นับหนึ่ง FTA ประวัติศาสตร์ ไทย-อียู หลังถกร่วม 2 ฝ่าย
ประกาศความสำเร็จครั้งใหญ่! “จุรินทร์” นับหนึ่ง FTA ประวัติศาสตร์ ไทย-อียู หลังถกร่วม 2 ฝ่าย ที่บรัสเซลส์ ทำไทยได้แต้มต่อตลาดใหม่ 27 ประเทศ
วันที่ 26 มกราคม 2566 เวลา 9.00 น.
นายจุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการหารือทวิภาคีกับ H.E. Mr. Valdis Dombrovskis (นายวัลดิส โดมโบรฟสกิส) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรปในช่วงเย็นวันที่ 25 มกราคม 2566 ตามเวลาท้องถิ่น ที่ Le Berlaymont กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม
นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของไทยกับสหภาพยุโรป ได้มีการเจรจาทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปวันนี้เป็นการเจรจาที่มีผลสัมฤทธิ์ที่ฝ่ายการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย มีข้อสรุปแสดงเจตจำนงร่วมกันในการเริ่มต้นให้แต่ละฝ่าย ดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การจัดทำ FTA ระหว่าง 2 ฝ่ายต่อไปโดยเร็ว ถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายประชุมและแสดงเจตจำนงร่วมกัน ในส่วนของประเทศไทย ตนจะนำเข้าหารือเดินหน้าสู่การนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการจัดทำ FTA ไทย-อียู ต่อไป ส่วนรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการค้าของสหภาพยุโรป จะนำผลการหารือวันนี้ไปดำเนินการภายในของสหภาพยุโรปขอคำรับรองจากสมาชิก 27 ประเทศต่อไป ตั้งเป้าจะดำเนินการตามกระบวนการภายในให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อประกาศนับหนึ่งการเริ่มต้นเจรจา FTA ไทยกับสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเราใช้ความพยายามในการทำ FTA กับสหภาพยุโรปเกือบ 10 ปีมาแล้วแต่ยังไม่สามารถนับหนึ่งในลักษณะนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ข้อมูลการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปสหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยรองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอียู ปี 2565 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าที่ไทยค้ากับสหภาพยุโรป ประมาณ 7% ของการค้ากับโลก ถือว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ และไทยส่งออกไปอียูปี 2565 คิดเป็น 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ (843,378 ล้านบาท)เพิ่มขึ้น 5.17% สินค้าที่ไทยส่งออกไปอียูส่วนใหญ่ คือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และอุปกรณ์ แอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ ไก่แปรรูป เป็นต้น สินค้าที่นำเข้าจากอียูสำคัญ เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และยาเป็นต้น ปัจจุบันอียูมี FTA กับประเทศอาเซียน 2 ประเทศคือ เวียดนามและสิงคโปร์ ถ้ากระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมายประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ถ้าประสบความสำเร็จ ประเทศไทยจะมีตลาดการค้าที่ได้เราได้เปรียบคู่แข่งขันจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น 27 ประเทศ เป็นแต้มต่อสำหรับประเทศไทยต่อไปในอนาคต เป็นการสร้างเงิน สร้างอนาคตให้กับประเทศต่อไป
โดยตั้งใจว่าจะเสนอเข้า ครม.ให้ได้ภายในสองสัปดาห์นี้ เพราะทางอียูเร่งดำเนินกระบวนการภายในขอคำรับรองจาก 27 ประเทศให้เสร็จโดยเร็วเช่นกัน หัวหน้าฝ่ายไทยเป็นกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศโดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเป็นหน่วยงานเจรจาคู่กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของอียูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป