เช็กเลยที่นี่! ครม.เคาะมาตรการ "ลดค่าครองชีพ" รอบใหม่ 3 เดือน ถึงก.ย.นี้
ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทา "ค่าครองชีพ" รอบใหม่และต่ออายุมาตรการเดิม เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565
วันนี้( 21 มิ.ย.65) ความคืบหน้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานล่าสุด นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ 3 เดือน จากสถานการณ์ราคาพลังงาน 2 ด้าน คือ มาตรการด้านพลังงาน และมาตรการด้านการคลังรายละเอียด ดังนี้
1.มาตรการด้านพลังงาน
1.1 ขยายมาตรการที่จะสิ้นสุดเดือน มิถุนายน 65 ขยายเวลาออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม-กันยายน 65 ได้แก่
-ทะยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เดือนละ 15 บาท/ถัง
-ขยายระยะเวลาส่วนลดก๊าซ LPG แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เกิน 100 บาท/ คน/ 3 เดือน
-ส่วนลดก๊าซ LPG สำหรับหาบเร่เผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาท/เดือน
-ตรึงราคาก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาท/กิโลกกรัม สำหรับ แท็กซี่ในโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” ซื้อในราคา 13.62 บาท /กิโลกรัม
-ตรึงราคาน้ำมันดีเซล กรณีที่ราคาเกิน 35บาท/ลิตร โดยรัฐอุดหนุนส่วนเพิ่มในอัตราร้อยละ 50
1.2 มาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล ของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ได้ B 7 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ร้อยละ 5-10 และ B20 รวมทั้ง ขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร
1.3 มาตรการขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาตินำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันในช่วงวิกฤติน้ำมันแพง โดยเงินในส่วนของน้ำมันดีเซล นำไปบริหารราคาขายปลีกให้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เงินในส่วนของน้ำมันเบนซิน นำไปลดราคาขายปลีก 1 บาท/ลิตร กระทรวงพลังงานรายงานว่า กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มโรงกลั่นถึงแนวทางในการดำเนินกาส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป รวมทั้งขอความร่วมมือ ปตท. นำส่งกำไรส่วนหนึ่งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งคาดว่าจัดเก็บได้ 500-1,000 ล้านบาท/เดือน
1.4 มาตรการประหยัดพลังงาน
ภาคประชาชน อาทิ มาตรการ “ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน” ปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ ตั้งอุณหภูมิ เรื่องปรับอากาศ 26 องศาเซลเซียส
ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อาทิ การเปิด-ปิด เครื่องปรับอากาศเป็นเวลา ขอความร่วมมือให้ปิดป้ายโฆษณาหลัง 22.00 น. เป็นต้น
ภาคขนส่ง อาทิ การส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะแทนยานพาหนะส่วนบุคคล รณรงค์ขับรถไม่เกิน 90 กม./ชม. ลดการเดินทางโดยการใช้แอปสั่งอาหารหรือรับส่งของ หรือการใช้ การประชุมออนไลน์แทนการเดินทางด้วยตนเอง
หน่วยงานราชการ อาทิ – ลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงลงร้อยละ 20 และ กำหนดให้ลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 เป็นตัวชี้วัดของส่วนราชการ - ผลักดันกลไก ESCO
2. มาตรการด้านการคลัง
2.1 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ระยะเวลา 15 ก.ค. – 31 ธ.ค. 65 โดยให้หักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่งหรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริงสำหรับอบรม สัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง และ 1.5 เท่าสำหรับจังหวัดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยวรอง
2.2 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดนิทรรศการ และงานแสดงสินค้าภายในประเทศ ให้หักรายจ่ายค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงาน ออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าในประเทศ เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม. เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน มีมติเมื่อวันที่ 29 มี.ค. และ 19 เม.ย. 65 ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือน มิ.ย. 65
อย่างไรก็ดี แนวโน้มราคาน้ำมันและราคาสินค้าในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าภายในประเทศมีแนวโน้มที่สูงต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโดยตรง รัฐบาลจึงได้มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ รวมทั้งมีมาตรการภาษีเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว
ที่มา เว็บรัฐบาล
ภาพจาก AFP/พีอาร์ OR