TNN รู้จักผืนป่า "ฮาลา-บาลา" ป่าแห่งความหลากหลายทางชีวภาพภาคใต้

TNN

ภูมิภาค

รู้จักผืนป่า "ฮาลา-บาลา" ป่าแห่งความหลากหลายทางชีวภาพภาคใต้

รู้จักผืนป่า ฮาลา-บาลา ป่าแห่งความหลากหลายทางชีวภาพภาคใต้

เพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่ความสำคัญของผืนป่า "ฮาลา-บาลา" สมบัติล้ำค่าแห่งความหลากหลายทางชีวภาพในภาคใต้

เฟซบุ๊กเพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุความสำคัญของป่าฮาลา-บาลา ไม่ใช่แค่เพียงป่า แต่เป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงและความสวยงามของธรรมชาติ ทำให้ป่าแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ 


" ป่าฮาลา - บาลา" อยู่ในการดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสันกาลาคีรี ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2539 มีเนื้อที่ประมาณ 391,698 ไร่


ชื่อ "ฮาลา-บาลา" จะฟังดูเป็นหนึ่งเดียว แต่จริง ๆ แล้วเป็นผืนป่าที่ไม่ต่อเนื่องกัน โดยป่า "ฮาลา" อยู่ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ส่วนป่า "บาลา" ครอบคลุมอำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ชื่อเรียกอาจแตกต่างกันไปตามพื้นที่ โดยชาวนราธิวาสนิยมเรียก "บาลา-ฮาลา" ขณะที่ชาวยะลาเรียก "ฮาลา-บาลา" ซึ่งชื่อ "บาลา-ฮาลา" มีรากศัพท์จากภาษามลายู โดยรวมแล้วหมายถึง "ทิศทางของการอพยพของกลุ่มคน" สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพื้นที่


ป่าฮาลา-บาลาเป็นป่าฝนเขตร้อนชื้นที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย มีฝนตกตลอดทั้งปี ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์สูง เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ ทั้งพืชพันธุ์หายากและสัตว์ป่านานาชนิด ที่โดดเด่นที่สุดคือการเป็นถิ่นที่อยู่ของนกเงือกถึง 10 ชนิด จากทั้งหมด 13 ชนิดที่พบในประเทศไทย ทำให้ป่าฮาลา-บาลาเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของนกเงือกมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก "นกเงือก" จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของป่าแห่งนี้


รู้จักผืนป่า ฮาลา-บาลา ป่าแห่งความหลากหลายทางชีวภาพภาคใต้


ด้วยความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าฮาลา-บาลาจึงเป็นสมบัติล้ำค่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และศึกษาเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์และระบบนิเวศในอนาคต


นอกจากนี้ ป่าฮาลา-บาลา ยังเป็นต้นน้ำลำธารที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในพื้นที่ อีกทั้งรากของพืชในป่าช่วยยึดดินและป้องกันการเกิดดินถล่ม และป่าช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน ป่าฮาลา-บาลาจึงเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่สำคัญสำหรับการศึกษาและวิจัยของผู้รักธรรมชาติอย่างแท้จริง


รู้จักผืนป่า ฮาลา-บาลา ป่าแห่งความหลากหลายทางชีวภาพภาคใต้




ข้อมูลและภาพ : เพจ FB ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ข่าวแนะนำ