"หนองคาย-นครพนม"เริ่มวิกฤตน้ำโขงเพิ่มระดับ
ระดับน้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย วัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ วัดได้ 11.80 เมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 53 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่งเพียง 40 เซนติเมตร เฉลี่ยน้ำโขงขึ้นชั่วโมงละ 2 เซนติเมตร ทำให้ขณะนี้เริ่มมีผลกระทบกับชาวบ้านริมฝั่งโขง ส่วน จ.นครพนม น้ำโขงวิกฤตเพิ่มต่อเนื่องเหลืออีกแค่ 2 เมตร ถึงจุดล้นตลิ่ง ชลประทาน เร่งระบายลำน้ำก่ำ รับน้ำมวลจากหนองหาน
ชาวบ้านสะเงียว บ้านกวนวัน อ.เมืองหนองคาย ระบุว่า น้ำโขงสีขุ่นแดงได้ไหลเข้าพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านก่อนแล้ว ถนนริมตลิ่งซึ่งใช้สำหรับขนพืชผลทางการเกษตรเริ่มปริ่มน้ำ ชาวบ้านได้เตรียมการรับมือ ซึ่งทาง อบจ.หนองคาย ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเดินเครื่องสูบน้ำที่เอ่อเข้ามาลงสู่แม่น้ำโขง ด้านนายสมบัติ บินตะคุ ปลัดเทศบาลเมืองหนองคาย และระดมเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองหนองคายช่วยเหลือประชาชน พร้อมช่วยกันกรอกกระสอบทรายเตรียมทำแนวกั้นน้ำให้กับประชาชนและสถานที่สำคัญต่าง ๆ
ชาวบ้านบอกว่า น้ำโขงไม่ได้ขึ้นสูงขนาดนี้มา 7-8 ปีแล้ว ปีนี้น้ำโขงมาเร็วและปริมาณมาก ประกอบกับฝนตกหนักต่อเนื่องยาวนานหลายวัน แม้ว่าชาวบ้านริมฝั่งโขงจะใช้ชีวิตติดลำน้ำมาตลอดก็ต้องคอยระมัดระวังเพราะอุทกภัยเกิดขึ้นเสมอ ขณะนี้ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ รับฟังข่าวสารจากทางการ พร้อมจัดเตรียมสิ่งของจำเป็นเพื่อเตรียมพร้อมอพยพ เพราะแนวโน้มสถานการณ์ระดับน้ำโขงจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 28 ส.ค.นี้ น้ำจึงจะเริ่มลดระดับลง.
ล่าสุดวันนี้(24 ส.ค.) น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย วัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ วัดได้ 11.80 เมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 53 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่งเพียง 40 เซนติเมตร เฉลี่ยน้ำโขงขึ้นชั่วโมงละ 2 เซนติเมตร ทำให้ขณะนี้เริ่มมีผลกระทบกับชาวบ้านริมฝั่งโขง
ที่ จ.นครพนม สถานการณืล่าสุดระดับน้ำโขงยังเพิ่มต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับประมาณ 9 .60 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่ง แค่ 2 เมตร คือ ที่ 13 เมตร ส่งผลให้ลำน้ำสาขาสายหลัก เช่น ลำน้ำก่ำ ลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม รวมถึงลำห้วยสาขา มีปริมาณน้ำล้นความจุ บางพื้นที่ เอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร นาข้าว โดยเฉพาะพื้นที่ ติดกับลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม เขต อ.นาหว้า อ.ศรีสงคราม เริ่มได้รับผลกระทบจากลำน้ำสาขาสายหลังเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร นาข้าว แล้วนับ 10,000 ไร่ เนื่องจากระดับน้ำโขงหนุน คาดว่า หากมีฝนตกลงมาต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบขยายวงกว้างมากขึ้น
นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่ลำน้ำก่ำ ที่รองรับน้ำมาจากพื้นที่หนองหาน จ.สกลนคร ไหลผ่านพื้นที่ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ไหลลงสู่ อ.วังยาง อ.นาแก และ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ก่อนที่จะไหลระบายลงสู่น้ำโขง ในช่วงนี้เริ่มระบายช้า ทำให้ทางชลประทานนครพนม เร่งเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 5 จุด เพื่อไหลลงสู่ประตูระบายน้ำก่ำตอนล่างช่วงสุดท้าย บริเวณประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต ที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ก่อนระบายลงน้ำโขงให้มากที่สุด เตรียมพร้อมรับมือลำน้ำก่ำเอ่อล้น
ข่าวแนะนำ