เลี้ยงอาหาร 'กาลิ' แรดอินเดียหนึ่งเดียวในไทย ต้อนรับ 'วันแรดโลก'
"วันแรดโลก" สวนสัตว์เชียงใหม่จัดอาหารโปรดเลี้ยง "กาลิ" แรดอินเดียหายากหนึ่งเดียวในไทย นักท่องเที่ยวให้กำลังใจหลังทราบข่าวอยู่โดดเดี่ยวมานานถึง 17 ปี
วันนี้ (22 ก.ย.62) เป็นวันแรดโลก หรือ "WORLD RHINO DAY" เจ้าหน้าที่จัดขันโตกอาหารขนาดใหญ่ที่มีทั้ง หญ้าสด กล้วย แตงโม แครอท ข้าวโพดหวาน ถั่งฝักยาว มอบให้ "กาลิ" แรดสายพันธุ์อินเดียหนึ่งเดียวในประเทศไทย อายุ 34 ปี เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และต่อต้านการตัดนอแรดทั่วโลก โดยมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าชมและให้กำลังใจเจ้ากาลิอย่างคึกคัก ขันโตกอาหารที่มอบให้ ได้รับความสนใจจากเจ้ากาลิ ที่ออกจากคอกกักตรงมายังกินอาหารในขันโตกที่จัดเตรียมไว้อย่างเอร็ดอร่อย
กิจกรรามที่จัดขึ้น นางสาวอุฬาริกา กองพรหม รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ บอกว่า เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงจำนวนประชากรแรด สัตว์เลือดอุ่นขนาดใหญ่อันดับสองของโลก ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและปัจจุบันตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุมาจากการถูกล่าเพื่อนำนอของแรดไปขาย ในรูปแบบของเครื่องประดับต่างๆ หรือนำไปเป็นส่วนผสมของยาตามความเชื่อ
“กาลิ” เป็นแรดดำอินเดียที่พระราชาธิบดีแห่งประเทศเนปาล น้อมกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ ทรงพระราชทานให้กับองค์การสวนสัตว์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2529 ก่อนจะถูกส่งมาดูแลที่สวนสัตว์เชียงใหม่ โดยขณะนั้นกาลิมีอายุเพียง 1 ปี 2 เดือน และ มีน้ำหนักตัว 375 กิโลกรัม
ปัจจุบันกาลิ ในวัย 34 ปี ถือว่าอยู่ในวัยชรา เนื่องจากตามธรรมชาติแรดอินเดียจะมีอายุเฉลี่ยสูงสุดที่ 40 ปี แต่สำหรับกาลิได้รับการดูแลอย่างดี จึงมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและอายุยืน ที่ผ่านมาสวนสัตว์เชียงใหม่พยายามเพาะขยายพันธุ์ เพราะแรดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ อยู่ในบัญชีไซเตส 1 และ ขณะนี้ก็เหลือเพียงตัวเดียวในประเทศไทย แต่เนื่องจากกาลิมีอายุมากแล้วจึงไม่สามารถมีลูกได้อีก
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เจ้ากาลิเคยมีคู่ ชื่อ "นาดีย์" แรดดำที่ได้มาจากประเทศสิงคโปร์ แต่ปรากฏว่า เมื่อปี 2545 แรดนาดีย์ ตายด้วยอาการท้องร่อง ทิ้งให้ กาลิ อยู่ตัวเดียวมาเป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว
สำหรับลักษณะทั่วไป เป็นแรดดำมีลักษณะนอเดียว ผิวหนังมีรอยย่นพับ มองดูคล้ายเสื้อเกราะ ชอบกินใบไม้เป็นหลัก สำหรับแรดดำในประเทศไทยและจัดอยู่ในบัญชีสัตว์หายากและเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ ทั้งนี้ แรดดำมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและเนปาล
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand