เด็กติดเชื้อโนโรไวรัส ท้องเสียรุนแรงกว่า500คน
พบเด็กนักเรียนในจ.ราชบุรีติดเชื้อ 'โนโรไวรัส' ทำท้องเสีย-อาเจียนรุนแรงกว่า 500 คน
วันนี้( (6 ก.ย.62) ผู้สื่อข่าวได้รับเรื่องร้องเรียนจาก น.ส.กุลวลี นพอมรบดี สส.ราชบุรี ว่ามีผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งกลางเมืองราชบุรี ว่า เด็กๆตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงชั้น ป.6 เกิดอาการ อาเจียน ท้องเสีย เป็นจำนวนมาก แต่ทางโรงเรียนดังกล่าวยังไม่ออกมาชี้แจงหรือสั่งปิดโรงเรียนเพื่อทำการตรวจสอบแต่อย่างใด และขณะนี้ที่โรงเรียนมีการจัดงานกีฬาสีประจำปี ซึ่งผู้ปกครองหวั่นมีการระบาดของโรคและอาจจะมีเด็กป่วยด้วยโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น ล่าสุดได้มีการประสานไปทาง ท่านผอ.รพ.ศูนย์ราชบุรี และผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี รวมไปถึงรัฐมนตรี สาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเร่งหาแนวทางช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดไปเป็นวงกว้างหวั่นจะเกิดโรคระบาด
ขณะที่ทางด้านสังคมออนไลน์ต่างออกมาตั้งข้อสังเกตและร้องเรียนผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการล้มป่วยของเด็กนักเรียนจากโรคเรียนอนุบาลดังกล่าวที่เกิดขึ้นพร้อมกันมากกว่า 100 คน ทำให้เกิดการเป็นห่วงของผู้ปกครอง และร้องไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาตอบปัญหาที่เกิดขึ้น
ล่าสุดวันนี้นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สาธารณสุขจังหวัด เทศบาลเมืองราชบุรี โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ประปาเทศบาลเมืองราชบุรี ฝ่ายปกครอง รวมไปถึงผู้บริหารโรงเรียนเร่งประชุมด่วน ที่ห้องประชุมผู้อำนวยการชั้น 2 อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เพื่อขอมูลของการเกิดโรคระบาดดังกล่าว และเร่งแก้ไขปัญหาหยุดการระบาดของโรคที่เกิดขึ้น
จากการรายงานของ นพ.ปิยะณัฐ บุญประดิษฐ์ นายแพทย์ผุ้เชี่ยวชาญโรคระบาทวิทยา โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย. เวลา 21.00 น. ทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT) โรงพยาบาลราชบุรี ได้รับแจ้งจากไลน์กลุ่มผู้ปกครองชั้นอนุบาล ว่ามีผู้ป่วยสงสัยโรคอาหารเป็นพิษ เป็นเด็กนักเรียนอนุบาลจำนวน 2 ห้อง ห้องละอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป จึงได้แจ้งทีมสอบสวนควบคุมโรค (JIT) โรงพยาบาลราบุรีดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคในโรงเรียน ในวันที่ 4 – 5 ก.ย. โดยมีผู้ป่วยสงสัยอาหารเป็นพิษทั้งหมดจำนวน 517 ราย แยกตามชั้นปี ดังนี้ อนุบาล 2 จำนาน 60 ราย , อนุบาล 3 จำนวน 74 ราย , ป.1 จำนวน 126 ราย , ป.2 จำนวน 87 ราย , ป.3 จำนวน 33 ราย , ป.4 จำนวน 74 ราย , ป.5 จำนวน 46 ราย และ ป.6 จำนวน 19 ราย
โดยพบว่ามีอาการเริ่มต้น ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 30 ส.ค. จำนวน 1 ราย , วันเสาร์ที่ 31 ส.ค. จำนวน 1 ราย , วันอาทิตย์ที่ 1 ก.ย. จำนวน 2 ราย , วันจันทร์ที่ 2 ก.ย. จำนวน 11 ราย , วันอังคารที่ 3 ก.ย.62 จำนวน 144 ราย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 4 - 5 ก.ย.62 รวมแล้ว 517 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการอาเจียน และปวดท้องเป็นหลัก บางส่วนมีไข้ และถ่ายเหลวในเวลาต่อมา ผู้ป่วยมีทั้งที่ดูอาการที่บ้าน รักษาที่คลินิก และไปที่โรงพยาบาลของรัฐและเอกเชน บางรายได้รับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน
จากนั้นทีมสอบสวนควบคุมโรค (JIT) โรงพยาบาลราบุรี ได้เร่งดำเนินการเข้าไปควบคุมโรคในโรงเรียนดังกล่าว พร้อมทั้งค้นหาผู้ป่วยสงสัยอาหารเป็นพิษในโรงเรียนเพิ่มเติม และได้ดำเนินเก็บตัวอย่างภายในโรงเรียนเพื่อทำการส่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาทิ ตัวอย่างจากแม่ครัวในโรงเรียนทั้งหมด อาทิ เครื่องประกอบอาหาร ตรวจร่างกาย และภาชนะ น้ำที่ใช้ เพื่อหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ตัวอย่างจากผู้ป่วยสงสัยอาหารเป็นพิษ เก็บอุจระ และเลือด ตัวอย่างจากน้ำดื่มและน้ำใช้ทั้งหมด เพื่อส่งหาทั้งแบคทีเรียและไวรัส พร้อมใช้เครื่องวัดคลอรีนอิสระในน้ำดื่มและน้ำใช้ รวมไปถึงประสานกับทางโรงพยาบาลเอกชนเพื่อถามถึงอาการผู้ป่วยสงสัยอาหารพิษและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ
และจากรายงานการผลตรวจอุจจาระของเด็กที่ป่วยที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนที่ทางผู้ปกครองส่งบุตรไปรักษา พบว่า เป็นเชื้อ “โนโรไวรัส” โดยได้แจ้งผู้อำนวยการโรงเรียนให้ทราบ และ ประสานกับทางหน่วยงานประปาเทศบาล เติมคลอรีนเพิ่มเติมในน้ำประปา เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อไวรัสเบื้องต้น
นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า จากการประชุมติดตามสถานการณ์ของการเกิดโรคดังกล่าว และบูรณาการแก้ไขปัญหาโรคทางเดินอาหารจากเชื้อโนโรไวรัสในสถานศึกษา ที่พบว่ามีเด็กป่วยกว่า 500 ราย โดยสรุปแผนปฏิบัติ 1.จัดจิตอาสาของอำเภอเมืองจำนวน 150 ราย มาช่วยกันทำความสะอาดใหญ่ใน รร. อนุบาล และหากไม่เสร็จให้ต่อในวันพรุ่งนี้อีก 2.ให้ท้องถิ่นจังหวัดประสานทุก อปท.ทั้ง 10 อำเภอในจังหวัดราชบุรี ทำความสะอาดใหญ่สถานศึกษา ศูนย์เด็กเล็กในสังกัดทุกแห่ง 3.แจ้งประสาน การประปาส่วนภูมิภาค ประปาตำบล ประปาหมู่บ้าน และประปาเทศบาลทุกแห่ง และกลุ่มผู้ใช้น้ำ ประสานสาธารณสุขขอคำแนะนำเพิ่มคลอลีนในระบบประปา 4. ให้สำนักศึกษาธิการจังหวัด สั่งให้ทุกโรงเรียนทำความสะอาดใหญ่ในช่วงวันหยุด รวมไปถึงส่วนราชการที่มีผู้ใช้บริการมากและสถานประกอบการต่างๆ และให้แจ้งประสานหน่วยงาน ผู้ประกอบการต่างๆ ร่วมทำความสะอาดใหญ่ในทุกองค์กรเช่นกัน 5. ให้ทางสาธารณสุขจังหวัด และ ประชาสัมพันธ์จังหวัดราชบุรี ร่วมกันเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรค “โนโรไวรัส” ถึงการป้องกัน การรักษา รวมทั้งสนับสนุนเวชภัณฑ์ในการรณรงค์ทำความสะอาดของทุกองค์กร
ด้านนายไกรเสริม โตทับเที่ยง เลขา รมต.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย น.ส.กุลวลี นพอมรบดี สส.ราชบุรี และคณะ เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมอาการป่วย พร้อมทั้งมอบสิ่งของให้กับเด็กนักเรียนที่นอนพักรักษาตัวอยู่ภายโรงพยาบาลราชบุรี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเด็กและผู้ปกครอง
นายไกรเสริม โตทับเที่ยง เลขา รมต.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับเรื่องแจ้งจาก ส.ส.ราชบุรี ว่าเกิดการระบาดโรค “โนโรไวรัส” ตนจึงได้เรียนให้ทางรัฐมนตรี ทราบพร้อมทั้งเร่งเดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อเร่งหาการแก้ไขเพื่อไม่ให้มีการระบาดเพิ่มเติม ซึ่งจากการที่สอบถามทางแพทย์แล้ว เป็นโรคที่ไม่มีอะไรซับซ้อน และสามารถเกิดขึ้นได้ในหมู่เด็กๆที่มีการรวมตัวกัน ซึ่งช่วงนี้อากาศชื้นเชื้อไวรสสามารถแพร่กระจายไปได้ง่าย ซึ่งตนได้สั่งกำชับให้ทางหน่วยงานในสังกัด ได้นำมาตรการในการควบคุมโรคเบื้องต้น รณรงค์เรื่องกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการระบาดของโรคติดต่อในโรงเรียน เน้นมาตรการล้างมือก่อนเข้าเรียน ก่อนรับประทาน และหลังออกจากห้องน้ำ โดยมีสบู่เหลวให้เพียงพอ ผู้ป่วยให้หยุดเรียนอย่างน้อย 2 วันต่อจากวันป่วย และจนกว่าจะหาย ปิดโรงเรียน 1 วันก่อนเดินพาเหรดกีฬาสีในชั้นอนุบาล ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องเรียน หน้าห้องเรียน ที่เตรียมอาหารและโรงอาหาร ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อคลอรีนเข้มข้น 5000 ppm. (0.5 % sodium hypochlorite) พร้อมทั้งติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยสงสัยอาหารเป็นพิษในโรงเรียนประถมแห่งนี้รวมทั้งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทั้งรัฐบาลและเอกชน จนไม่พบผู้ป่วยเป็นเวลาอย่างน้อย 4 วันต่อเนื่อง (2 เท่าของระยะฟักตัว)
สำหรับลักษณะของโรคเกิดจากเชื้อ “โนโรไวรัส” อาการของโรคที่พบได้บ่อยคือ อาเจียน อาจพบได้มากกว่า ร้อยละ 50 ของผู้ป่วย อาการอื่น เช่น ถ่ายเหลว (ไม่มีเลือดปน) ปวดท้อง ไข้ เป็นต้น ระยะฟักตัวของโรค 10 – 50 ชั่วโมง ผู้ป่วยได้รับเชื้อผ่านทางอาหารและน้ำ หรือสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังภาวะขาดน้ำซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยและปนเปื้อนอยู่ในอุจจาระได้นานกว่า 2-3 สัปดาห์ แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการถ่ายเหลวแล้วก็ตาม โนโรเป็นเชื้อไวรัส ชนิดไม่มีเปลือกทำให้ทำลายเชื้อได้ยากกว่าปกติ การทำลายเชื้อในสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้โดยใช้คลอรีนเข้มข้น 5000 ppm. (0.5 % sodium hypochlorite)
สถานการณ์ในจังหวัดราชบุรี เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 มีการระบาดของเชื้อโนโรไวรัสในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จำนวน 100 ราย เนื่องจากเป็นโรคที่เชื้อมีความทนสูงทำลายได้ยาก และติดต่อได้ง่ายมากจึงมีโอกาสเกิดการระบาดของโรคในโรงเรียนเป็นวงกว้างได้สูงและอย่างต่อเนื่อง โดยการสรุป การประเมินระดับความเสี่ยงว่าอยู่ในระดับ เสี่ยงปานกลาง เนื่องจากไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตถ้าไม่มีอาการขาดน้ำรุนแรง และมีมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคได้