ลอยกระทง 2567 "กทม." ชวนรักษ์โลก งดกระทงขนมปัง เช็กสถานที่จัดงานที่นี่
15 พ.ย. นี้ กทม. ชวนคนกรุงฯ ลอยกระทงรักษ์โลก งดกระทงขนมปัง-อาหารปลา บ่อเกิดน้ำเน่าเสีย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2567 ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร โดยผู้ว่าฯ กทม. ได้กำชับให้คณะผู้บริหารติดตามกำกับดูแลโครงการก่อสร้างที่ยังค้างอยู่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหลายพื้นที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของประชาชน รวมถึงได้เน้นย้ำให้หน่วยงานดำเนินการตามตัวชี้วัดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
จากนั้นที่ประชุมได้รายงานถึงการจัดงานเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2567 ว่า ในปีนี้กำหนดจัดงานในวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ภายใต้แนวคิด “ลอยกระทง วิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ตามแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีการจัดกิจกรรม ณ คลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กิจกรรมประกอบด้วย ลอยกระทงรักษ์โลก การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย จุดถ่ายภาพเช็กอิน การออกร้านส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนจาก 50 เขตของ กทม. และมีการจัดกิจกรรม AEON Presented “Eco - Lights of Tradition” Digital Loy Krathong Festival ในวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 17.00 - 23.30 น. ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
โดยเป็นการจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิดลอยกระทงอย่างสร้างสรรค์ รักษ์โลก ผ่านระบบดิจิทัล ภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย Projector Mapping โดยฉายภาพขึ้นบนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร การลอยกระทงดิจิทัล การประกวดหนูน้อยนพมาศ การประกวดคอสเพลย์ และการออกร้านจำหน่ายอาหาร
สำหรับมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลลอยกระทงของกรุงเทพมหานคร หน่วยงานของกรุงเทพมหานครมีการดำเนินการ ดังนี้
สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.)
ดูแลบริเวณท่าเรือ โดยได้มีหนังสือประสานสำนักงานเขตตรวจสอบความปลอดภัยท่าเรือ และลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบท่าเรือปี 2567 ได้รับรายงาน 25 เขต จำนวน 161 ท่า มีสภาพใช้งานได้ 155 ท่า สภาพไม่พร้อมใช้งาน 6 ท่า สำหรับท่าเรือที่ใช้งานได้ปกติ ได้ติดตั้งป้ายเตือน/แจ้งพิกัดบรรทุกให้เห็นชัดเจน โดยคิดเป็น 1.2 คน ต่อ 1 ตร.ม. ตามคำสั่งกรมเจ้าท่า ส่วนท่าเรือที่มีสภาพไม่พร้อมใช้งาน ได้ติดป้ายแจ้งเตือน “ท่าเรือ/โป๊ะ ชำรุด ห้ามใช้งาน”
นอกจากนี้ ได้ตรวจสอบและซ่อมบำรุง CCTV ในสวนสาธารณะ โดยสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครที่เปิดให้ลอยกระทง 34 แห่ง มีกล้อง 29 แห่ง รวม 1,189 กล้อง ไม่มีกล้อง CCTV 5 แห่ง และติดตั้ง CCTV บริเวณจัดงานลอยกระทง ได้แก่ พื้นที่ใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด 101 กล้อง พื้นที่ริมคลองโอ่งอ่าง 21 กล้อง พื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาถึงหัวลำโพง 346 กล้อง
สำนักเทศกิจ (สนท.)
จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลความปลอดภัยประชาชน ซึ่งบริเวณสะพานพระราม 8 ได้จัดเตรียมเรือตรวจการณ์ 4 ลำ จัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย พร้อมเสื้อชูชีพ ห่วงยาง เสื้อสะท้อนแสง กระบองไฟ ไฟฉาย ตั้งแต่เวลา 15.00 น. จนเสร็จสิ้นภารกิจ รวมทั้งจัดรถสายตรวจเทศกิจท่องเที่ยว (Segway) ตรวจตราความเป็นระเบียบเรียบร้อย บริเวณคลองผดุงกรุงเกษมและคลองโอ่งอ่าง โดยจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย พร้อมเสื้อชูชีพ ห่วงยาง เสื้อสะท้อนแสง กระบองไฟ ไฟฉาย ตั้งแต่เวลา 15.00 น. จนเสร็จสิ้นภารกิจ
สำนักการแพทย์ (สนพ.)
โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง มีการจัดหน่วยปฏิบัติการด้านการแพทย์ประจำกองอำนวยการร่วมฯ จำนวน 3 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด (ฝั่งธนบุรี) ในวันที่ 15 พ.ย. 67 จุดที่ 2 บริเวณคลองโอ่งอ่าง ในวันที่ 15 พ.ย. 67 และจุดที่ 3 บริเวณคลองผดุงกรุงเกษม (ย่านหัวลำโพง) ระหว่างวันที่ 14 - 15 พ.ย. 67 รวมทั้งจัดหน่วยเรือกู้ชีวิตออกตรวจทางลำน้ำ จำนวน 2 จุด จุดที่ 1 สะพานพระราม 7 - สะพานพุทธ: เรือกู้ชีพ วชิรพยาบาล จุดที่ 2 สะพานพุทธ - สะพานพระราม 9: เรือกู้ชีพ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และมีโรงพยาบาลนำส่งผู้ป่วย ได้แก่ รพ.กลาง รพ.วชิรพยาบาล รพ.ตากสิน รพ.ศิริราช รพ.เจริญกรุงประชารักษ์
นอกจากนี้ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ดำเนินการเตรียมเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุและประสานงานเพื่อจัดหน่วยปฏิบัติการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมระบบสื่อสารทางวิทยุ ระบบ VHF และระบบ Digital Trunked Radio เตรียมพร้อมหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินของศูนย์เอราวัณเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ความปลอดภัยทางน้ำ กรมเจ้าท่า สปภ. สนท. ตำรวจน้ำ
สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.)
จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในช่วงเทศกาลลอยกระทง เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจากการผลิต สะสม จำหน่าย การเล่นดอกไม้เพลิง และโคมลอยในเขตพื้นที่ กทม. จัดเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ช่วยชีวิต ประจำกองอำนวยการร่วมฯ จุดที่มีกิจกรรมลอยกระทง ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน และบริเวณสวนสาธารณะ จำนวน 34 แห่ง สถานที่ละ 2 นาย พร้อมรถดับเพลิงและอุปกรณ์กู้ภัย
จัดเจ้าหน้าที่ 5 นาย พร้อมรถดับเพลิง รถกู้ภัย รถไฟฟ้าส่องสว่าง วิทยุสื่อสาร รวมทั้งอุปกรณ์ในการช่วยเหลือประชาชนประจำกองอำนวยการร่วมฯ จุดท่าเทียบเรือและโป๊ะ จัดเจ้าหน้าที่จุดละ 2 นาย พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต เสื้อชูชีพ ห่วงยางช่วยชีวิต เชือกช่วยชีวิต ตามแนวลำน้ำเจ้าพระยา และจัดเรือดับเพลิงขนาด 38 ฟุต จำนวน 3 ลำ ดูแลความปลอดภัยตลอดลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9
โดยหลังวันลอยกระทง สปภ. จะรวบรวมและรายงานผลการปฏิบัติงาน และอุบัติภัยที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลลอยกระทงให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครทราบต่อไป
สำนักงานประชาสัมพันธ์ (สปส.)
กำหนดสโลแกนการรณรงค์ “3 ปลอดมลพิษ 2 ปลอดภัย วิถีใหม่ลอยกระทง” โดย 3 ปลอดมลพิษ ได้แก่ ปลอด..กระทงขนมปัง (ห้ามลอยกระทงขนมปังในสระ/บ่อน้ำภายในสวนสาธารณะของ กทม.) ปลอด..วัสดุไม่ธรรมชาติ 100% (โฟม เข็มหมุด ตะปู ลวดเย็บกระดาษ) ปลอด..มลพิษอากาศ - ลดการใช้พลังงาน (ลดการเดินทาง ลอยกระทงในสวนสาธารณะใกล้บ้าน ลดการจุดธูป) และ 2 ปลอดภัย ได้แก่ ปลอดภัย..จากประทัด โคมลอย พลุ (ห้ามขาย ห้ามจุด ห้ามปล่อย) ปลอดภัย..จากโป๊ะ - ท่าเรือ (ตรวจความมั่นคง แข็งแรงและจัดเจ้าหน้าที่ดูแลประจำโป๊ะ - ท่าเรือ) รวมถึงย้ำ Key Message ที่เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ข่าวแนะนำ