TNN สถานที่ดูดาว เปิดพิกัด 18 พื้นที่ แหล่งท่องเที่ยวชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์

TNN

ไลฟ์สไตล์

สถานที่ดูดาว เปิดพิกัด 18 พื้นที่ แหล่งท่องเที่ยวชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์

สถานที่ดูดาว เปิดพิกัด 18 พื้นที่ แหล่งท่องเที่ยวชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์

สถานที่ดูดาว เปิดพิกัด 18 พื้นที่ แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ประจำปี 2567

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.)  ในโครงการ “AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season 3” สนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) เจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่มความสนใจพิเศษ ผู้ที่สนใจดาราศาสตร์ ชื่นชอบการดูดาว และนักท่องเที่ยวทั่วไป ให้ออกเดินทางไปรับความสุขท่ามกลางธรรมชาติสัมผัสความสวยงามของท้องฟ้าประเทศไทย เรียนรู้ระบบสุริยจักรวาล ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งสำคัญ เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก 

หรือ ชมความสวยงามของกลุ่มดาวจักรราศีและดวงดาวต่างๆ ที่ปรากฏในท้องฟ้าแต่ละเดือน  



ทั้งนี้ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ทางสถาบันฯ ได้ดำเนินโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2563 เพื่อให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง จนในปี พ.ศ. 2565-2566 เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย จำนวน 30 แห่ง ถือเป็นพื้นที่นำร่อง กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และมีการผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 4 ประเภท ประกอบด้วย 


1. อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park)  

2. ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities) 

3.เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) 

4.เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) 


ทั้งนี้ พื้นที่เข้าเกณฑ์ผ่านการคัดเลือก ต้องเป็นพื้นที่โล่งไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตร สังเกตการณ์ท้องฟ้าได้โดยรอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ สามารถบริหารจัดการปริมาณแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ มี สิ่งอำนวยความสะดวก และต้องมีผู้ให้บริการความรู้พื้นฐานทางดาราศาสตร์ ในปีนี้ได้มีผู้แทนทั้ง 18 พื้นที่ดูดาว จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2567 ดังนี้


1.อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) จำนวน 6 พื้นที่ ได้แก่ 


- สวนป่าบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.เชียงใหม่

- อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ จ.แม่ฮ่องสอน 

- อุทยานแห่งชาติตาดโตน จ.ชัยภูมิ 

- อุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ 

- อุทยานแห่งชาติภูผายล จ.สกลนคร 

- อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น


2.ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities) จำนวน 1 พื้นที่ ได้แก่ 


- วัดมกุฏคีรีวัน เขาใหญ่  จ.นครราชสีมา


3.เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) จำนวน 10 พื้นที่ ได้แก่ 


- ฉ่าเก่อปอ  จ.เชียงใหม่ 

- พร้าวแคมป์ปิ้งค์ จ.เชียงใหม่ 

- ฮ่อมลมจอย จ.เชียงราย 

- ภาวนานิเวศน์ แคมป์ จ.นครสวรรค์ 

- ภูคําหอม เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา 

- สวนไพลินชมดารา จ.นครราชสีมา 

- อุ่นฟ้าอิงดาวแคมป์ปิ้ง จ.นครราชสีมา 

- โรงแรมโซเนวา คีรี จ.ตราด 

- บ่อแสน วิลล่า แอนด์ สปา จ.พังงา 

- อธิการ์เด้นท์ แคมป์ปิ้ง จ.พังงา


4.เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) จำนวน 1 พื้นที่ ได้แก่ 


- สวนสัตว์เปิด เขาเขียว จ.ชลบุรี 


ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงาน ผู้ประกอบการ ทั่วประเทศที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลและสมัครเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยได้ที่ https://darksky.narit.or.th/ 



ข้อมูลจาก: NARIT

ภาพจาก: AFP 



ข่าวแนะนำ