เดินป่าใกล้กรุงเทพ เปิดเส้นทาง "คลองปลากั้ง" ฉลอง 60 ปี ไทย-แคนาดา
เดินป่าใกล้กรุงเทพ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เปิดเส้นทาง "คลองปลากั้ง" ฉลองความสัมพันธ์ 60 ปี ไทย – แคนาดา
สถานทูตแคนาดา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เปิดเส้นทางเดินป่า “เทรลคลองปลากั้ง” ฉลองความสัมพันธ์ 60 ปี ไทย-แคนาดา เพื่อให้เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน
นางซาราห์ เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ “เทรลคลองปลากั้งมิตรภาพไทย-แคนาดา” ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ 4 (คลองปลากั้ง) อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นเส้นทางเดินป่าใกล้กรุงเทพ เมื่อวานนี้โดยมีนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานภาครัฐเอกชนในจังหวัดนครราชสีมา และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เข้าร่วมงาน
นางซาราห์ บอกวว่า สถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ได้มีโอกาสหารือกับตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เกี่ยวกับการกำหนดเส้นทางเดินป่าเพื่อเป็นการรำลึกถึงมิตรภาพของทั้งสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน เส้นทางศึกษาธรรมชาติเดินป่า “เทรลคลองปลากั้งมิตรภาพไทย-แคนาดา” จึงเกิดขึ้น ผ่านการสนับสนุนงบประมาณและความร่วมมือระหว่าง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ชุมชนที่อยู่รายรอบ เพื่อพัฒนาเส้นทางเดินป่าตามธรรมชาติ ส่งเสริมการศึกษาและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบอุทยานฯ และตั้งใจเลือกวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับวันชาติแคนาดา ทำพิธีส่งมอบเส้นทางนี้แก่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อเป็นของขวัญในโอกาสครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและประเทศแคนาดา ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพอันยั่งยืนระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
ด้าน อาจารย์ มัลลิกา สังข์สนิท รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจ สัมพันธ์ นวัตกรรม และความเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี บอกว่า จากการสำรวจป่าคลองปลากั้ง ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติของไทยที่มีศักยภาพ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทำให้บ่อยครั้งที่สัตว์ป่าบุกเข้าทำลายไร่สวนของชาวบ้านจนได้รับความเสียหาย จึงมีแนวคิดเข้ามาช่วยจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อเป็นทางออกหนึ่งให้กับชุมชนได้มีส่วนร่วมพัฒนาเส้นทางเดินป่าตามธรรมชาติ ไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน โดยการยกระดับมาตรฐานสากล เช่น ออกแบบเส้นทาง และปรับภูมิทัศน์เดิมให้อยู่ในสภาพที่พร้อมและปลอดภัย มีหอส่องสัตว์ พัฒนาแอปพลิเคชัน ที่สามารถให้ความรู้ทางชีวภาพ องค์ความรู้ชุมชน ชื่อว่า ‘Klong Plakang Trail’ ที่มีถึง 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส พร้อมจัดอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เพื่อจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ภาพจาก : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี