"สัตว์มีพิษ" อันตรายที่มากับ "น้ำท่วม"
ฝนตก-น้ำท่วมต้องระวัง! สัตว์อันตราย หรือ มีพิษที่มาตอน "น้ำท่วม" พร้อมเปิดวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกกัด-ต่อย
ฤดูฝนนี้ต้องระวัง "สัตว์มีพิษ" ฝนตกหนักอาจส่งผลให้พื้นที่ ที่เป็นหลุม เป็นบ่อ ภายในบ้านเกิดน้ำท่วมขัง กลายเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะบ้านที่มีพงหญ้า สูงรก มีสวนป่าอยู่ภายในบริเวณบ้าน ควรระมัดระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษ เพราะหากไม่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้านที่ถูกสุขลักษณะ อาจกลายเป็นแหล่งอาหารและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ มีพิษตามมา
1. งู
มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ชื้นแฉะ รก และมีแหล่งอาหาร เช่น หนู โดยให้สำรวจบริเวณรอบบ้าน ปิดช่องทางที่หนูและงูสามารถเข้ามาได้ รวมทั้งตรวจสอบระบบท่อไม่ให้มีรูรั่วหรือรอยแตก
ควรตรวจสอบรองเท้าก่อนใส่ เนื่องจากงูอาจหลบซ่อนอยู่ หากพบงูอยู่ในบ้านให้โทร 199 เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมาจัดการ
วิธีป้องกัน
ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ อุดช่องว่างต่างๆ ภายในบ้าน
วิธีปฐมพยาบาล
กรณีถูกงูกัด ให้ปฐมพยาบาลโดยล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ห้ามกรีดหรือดูดบริเวณที่ถูกกัด ไม่ควรขันชะเนาะ รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และจดจำลักษณะงูที่กัดเพื่อแจ้งแพทย์ให้การรักษาที่ถูกต้อง
2. แมงป่อง
แมงป่องเป็นสัตว์มีพิษที่ชอบอาศัยอยู่ในที่มืดและชื้น เช่น ใต้ใบไม้ ใต้ก้อนหิน หรือขุดรูอยู่ แมงป่องเป็นสัตว์มีพิษที่มีขา 4 คู่ ขาคู่หน้ามีลักษณะเป็นกล้ามใหญ่ ส่วนหางเป็นปล้อง และปล้องสุดท้ายมีต่อมพิษร้ายและปลายปล้องจะมีอวัยวะที่ใช้ต่อย
อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง เช่น อาการปวด บวม แดง ร้อน ในบริเวณที่ถูกต่อย โดยมีอาการมากในวันแรกและมักหายได้เอง ส่วนรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก
วิธีป้องกัน
อย่าให้พื้นที่อับและรก ใส่เสื้อผ้ามิดชิด
วิธีปฐมพยาบาล
ส่วนการปฐมพยาบาล ให้ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด และประคบเย็นครั้งละประมาณ10 นาที เพื่อลดอาการบวม ถ้ามีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวด มีอาการแพ้รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
3. ตะขาบ
ตะขาบเป็นสัตว์มีพิษที่อาศัยอยู่ในที่ชื้นแฉะ และอาศัยอยู่ในหลายแหล่งพื้นที่ เช่น ใต้เปลือกไม้ ขุดรูในดิน ฯลฯ เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นจนท่วมแหล่งที่อยู่อาศัย ตะขาบอาจจะหนีน้ำมายังที่พักอาศัยของคนได้ ดังนั้นตะขาบจึงเป็นสัตว์มีพิษที่พบได้บ่อยเมื่อเวลาน้ำท่วม และตะขาบจะกัดคนโดยใช้เขี้ยวคู่หน้าและฉีดน้ำพิษเข้าไปในแผลที่กัด
โดยปกติพิษจะไม่รุนแรงถึงแก่ชีวิต ความรุนแรงขึ้นอยู่กับขนาดของตะขาบที่กัด อาการส่วนใหญ่ ได้แก่ อาการปวด คัน บวม แดงร้อน ในบริเวณที่ถูกกัด อาจมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย และมักมีอาการดีขึ้นเองภายใน 24 ชั่วโมง
วิธีป้องกัน
อย่าให้พื้นที่อับและรก ใส่เสื้อผ้ามิดชิด
วิธีปฐมพยาบาล
ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด สามารถประคบน้ำเย็นครั้งละประมาณ 10 นาทีเพื่อลดอาการปวด หลีกเลี่ยงการเกา แกะ บริเวณที่ถูกกัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน ถ้ามีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดได้ ควรไปพบแพทย์หากสังเกตเห็นอาการใดๆ ที่แย่ลงหรือเริ่มรู้สึกว่าผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการติดเชื้อ ได้แก่ มีรอยแดง การบวม หรืออาการเจ็บปวดเพิ่มขึ้น มีแผลพุพองหรือน้ำเหลืองบนบริเวณที่เกิดแผล ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงเช่น บวมบริเวณใบหน้า หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้ามืดเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ช็อคหมดสติ รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
4. แมลงก้นกระดก
ในฤดูฝน แมลงที่ต้องระวังอีกชนิดหนึ่ง คือ ด้วงก้นกระดก หรือแมลงก้นกระดก เป็นแมลงขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 7 – 10 มิลลิเมตร มีขนาดใหญ่กว่ายุงประมาณ 1 เท่าครึ่ง หัวสีดำ ลำตัวและท้องมีสีส้ม ยกเว้นปล้องสุดท้ายของท้องมีสีดำ เมื่อเกาะอยู่กับพื้นจะงอส่วนท้องส่ายขึ้นลง แมลงชนิดนี้จะอาศัยในที่ชื้นใกล้แหล่งน้ำ นาข้าว หรือตามพงหญ้า พบชุกชุมและมักมีการระบาดของการเป็นพิษในฤดูฝน
การได้รับสารพิษจากแมลงชนิดนี้ อาจเกิดในเวลากลางคืน แมลงชนิดนี้ชอบเล่นไฟ จึงมักบินเข้าไปในบ้านที่เปิดแสงไฟ จากนั้นอาจจะไปเกาะตามร่างกาย แขน ขา คอ ใบหน้าของคน เมื่อคนไปปัด ตบ ตี หรือบี้ตัวมัน แมลงหรือซากของมันจะปล่อยของเหลวออกมา ทำให้เป็นพิษต่อผิวหนัง สารพิษจะทำให้บริเวณผิวหนังที่สัมผัส มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ ปวดแสบปวดร้อน คัน และอาจลามไปตามที่สารพิษไหลไปโดน ในบางครั้งผื่นจะมีลักษณะเป็นเส้นตรง ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีไข้ด้วย ผื่นดังกล่าวจะถูกพบในตอนเช้า ผื่นและตุ่มน้ำดังกล่าวมักจะแตก ทำให้ผิวหนังคล้ายถูกน้ำร้อนลวก โดยทั่วไปจะหายใน 1 – 2 สัปดาห์
วิธีป้องกัน
ปิดหน้าต่างและประตูให้สนิท
วิธีปฐมพยาบาล
ในกรณีที่รู้ตัวทันทีหลังสัมผัส ให้รีบล้างบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำสะอาด เมื่อพบเห็นหรือถูกแมลงชนิดนี้เกาะที่ร่างกายห้ามตี หรือขยี้ด้วยมือเปล่า เพราะจะทำให้สารพิษสัมผัสผิวหนังให้ใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยแมลงนี้ออกไปและรีบล้างบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำสะอาดให้เร็วที่สุด หากอาการผื่นแดงรุนแรงมากอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการพบแพทย์และทายา
แมลงมีพิษต่างๆ
แมลงหลายชนิดที่มีเหล็กใน เช่น ผึ้ง ต่อ แตน เป็นต้น เมื่อต่อยแล้วมักจะทิ้งเหล็กในไว้ ภายในเหล็กจะมีพิษที่มีฤทธิ์เป็นกรด บริเวณที่ถูกต่อยจะบวมแดง คัน และปวด อาการปวดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต่อยและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมลงกัดต่อย
-ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด ถ้ามีเหล็กในให้ดึงออกทันทีเพื่อลดปริมาณพิษเข้าไปในร่างกายมากขึ้น
(ปกติพิษจะถูกฉีดจนหมดในเวลาอันรวดเร็ว)
-ใช้เล็บมือหรือบัตรลักษณะแข็งค่อยๆ ขูดเอาเหล็กในออกมา หลีกเลี่ยงการใช้แหนบดึงเหล็กในออก เนื่องจากอาจทำให้พิษหลั่งออกมามากขึ้น
-สามารถประคบเย็นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวมเฉพาะที่
-หลีกเลี่ยงการเกา แกะบริเวณที่ถูกกัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน
-สามารถรับประทานยาต้านฮิสตามีน ทายากลุ่มยาต้านฮิสตามีน และยาทากลุ่มเสตียรอยด์ เพื่อลดอาการคัน ปวดแสบร้อน
-ถ้ามีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดได้
-ควรไปพบแพทย์หากสังเกตเห็นอาการใดๆ ที่แย่ลงหรือเริ่มรู้สึกว่าผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการติดเชื้อ ได้แก่ มีรอยแดง
-การบวม หรืออาการเจ็บปวดเพิ่มขึ้น มีแผลพุพองหรือน้ำเหลืองบนบริเวณที่เกิดแผล
-ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง เช่น บวมบริเวณใบหน้า หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้ามืดเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ช็อคหมดสติ รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
-สำหรับผู้ป่วยที่มีโอกาสสัมผัสแมลงที่แพ้บ่อย ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรได้รับยา epinephrine แบบพกติดตัว เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินและเรียนรู้วิธีใช้ได้อย่างถูกต้อง
ข้อมูลจาก พญ. นวลจันทร์ อภิวัฒนเสวี โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ / รพ.รามาฯ / กรมอนามัย