หมอแอร์ เตือน "ฝุ่น PM 2.5" ร้ายแรง ระยะสั้นโรคกำเริบ ระยะยาวเกิดมะเร็งปอด
นพ.อกนิษฐ์ เตือน "ฝุ่น PM 2.5" ระยะสั้นโรคกำเริบ ระยะยาวเกิดมะเร็งปอด ทำให้เกิดการอักเสบของร่างกาย นำไปสู่โรคต่างๆ ที่ทำให้เราอายุสั้นลง
นพ.อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา อายุรแพทย์โรคหัวใจ ผู้ชำนาญการด้าน Sports Cardiology โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Akanis Srisukwattana” เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5
โดยระบุว่า PM 2.5 ระยะสั้นโรคกำเริบ ระยะยาว เกิดมะเร็งปอด Pm 2.5 ทำให้เกิดการอักเสบของร่างกาย นำไปสู่โรคต่างๆ ที่ทำให้เราอายุสั้นลง
ปริมาณและระยะเวลาที่เสี่ยง
สัมผัส PM 2.5 ระดับ 50-100 µg/m³: การสัมผัสเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 3-5 ปี เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดเรื้อรัง
สัมผัส PM 2.5 ระดับ >100 µg/m³: ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะโรคหัวใจและมะเร็ง
ระยะเวลาสัมผัสต่อวัน: การสัมผัส PM 2.5 เพียง 2-3 ชั่วโมงต่อวันในระดับสูง สามารถกระตุ้นการอักเสบในระดับเซลล์ได้ทันที
PM 2.5 กระตุ้นการอักเสบในร่างกายได้อย่างไร?
ฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก (เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร) ทำให้สามารถแทรกซึมเข้าสู่ถุงลมปอด และกระแสเลือดได้โดยตรง เมื่อร่างกายสัมผัสกับฝุ่นชนิดนี้ ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองทันทีด้วยการส่ง เม็ดเลือดขาว เพื่อจัดการกับอนุภาคแปลกปลอม การตอบสนองนี้ทำให้เกิด การอักเสบเรื้อรัง ในเนื้อเยื่อและระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น:
ระบบทางเดินหายใจ: ทำให้เกิดพังผืดในปอด (Pulmonary Fibrosis) ลดความยืดหยุ่นของปอดและความสามารถในการหายใจ
ระบบหัวใจและหลอดเลือด: เพิ่มโอกาสเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด และหัวใจล้มเหลว
ระบบภูมิคุ้มกัน: การอักเสบเรื้อรังอาจลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ
PM 2.5 เพิ่มการเกิดมะเร็ง
งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญของการเกิดโรคมะเร็งในระยะยาว โดยเฉพาะ มะเร็งปอด: ฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอดและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเซลล์เยื่อบุปอด นำไปสู่การเกิดมะเร็งปอด
มะเร็งเม็ดเลือด: การอักเสบในกระแสเลือดที่เกิดจาก PM 2.5 อาจกระตุ้นการกลายพันธุ์ในเซลล์เม็ดเลือด
มะเร็งตับและมะเร็งลำไส้: การสัมผัส PM 2.5 ในระยะยาวเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งในระบบอวัยวะภายใน
สุดท้ายนำไปสู่อายุขัยลดลงจากปัญหาสุขภาพเรื้อรังครับ อายุยิ่งน้อย ยิ่งถูกสะสมนานและเยอะ อายุเยอะ ร่างกายอ่อนแอ สะสมไม่เยอะก็เกิดโรคได้เช่นกัน
ลดความจำเป็นในการออกกำลัง หรือ ทำกิจกรรม outdoor เปิด เครื่องฟอกอากาศ ถ้าฝุ่นบุกเข้าบ้าน ดูแลตัวเองกันไปก่อน เพราะต้องอยู่แบบนี้ไปอีกนาน
ขณะที่ วานนี้ (8 ม.ค. )นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนเข้าประชุมสภากรุงเทพมหานครว่า สถานการณ์ฝุ่นในวันนี้ของกรุงเทพมหานคร พบว่าค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 60.9 มคก./ลบ.ม. โดยเฉพาะเขตหนองแขม บริเวณสามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง มีค่าเท่ากับ 81.7 มคก./ลบ.ม. ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (โดยที่ค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 75.1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป (มคก./ลบ.ม.) ด้วยสภาพการหมุนเวียนของอากาศในช่วงนี้ยังปิด
บวกกับช่วงหลังปีใหม่ในพื้นที่โดยรอบของกรุงเทพมหานคร และประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มมีจุดความร้อน (hotspot) เพิ่มขึ้นจากการเผาในที่โล่ง จึงทำให้ปริมาณฝุ่นเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าวันที่ 13 มกราคม 2568 ทิศทางอากาศจะเริ่มเปิดขึ้น ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นมีแนวโน้มเบาบางลง
ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครร่วมกับ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติภารกิจพิชิตฝุ่น PM2.5 ไปแล้วในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเทคนิคของกรมฝนหลวงไม่ใช่การก่อฝนอย่างที่ประชาชนจำนวนมากเข้าใจ แต่เป็นเทคนิคการเจาะรูชั้นบรรยากาศเพื่อระบายฝุ่นที่ถูกกักเก็บบนผิวดิน รวมทั้งยังคงคุมเข้มมาตรการลดฝุ่นในสถานประกอบการและแพลนท์ปูน สถานที่ก่อสร้าง การมอนิเตอร์ Hotspot หรือจุดความร้อน ที่อาจเป็นการเผาไหม้ที่ทำให้เกิดฝุ่น
ข่าวแนะนำ