"กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส" ป้องกันลูกน้อยอย่างไร?
หมอเด็กให้ความรู้ "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส" พ่อแม่ควรป้องกันลูกน้อยอย่างไร?
คุณหมอแพม หรือ พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารเวชศาสตร์ โรคระบบการหายใจ เจ้าของเพจ "หมอแพมชวนอ่าน" โพสต์ข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งอันตรายในเด็ก ระบุว่า
ก่อนอื่นหมอต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง กับ คุณพ่อคุณแม่และครอบครัวของน้องไดอาน่า ด้วยนะคะ หมออ่านแล้วใจยังสั่นๆ รู้เลยว่ามันเป็นการสูญเสียที่ไม่ได้ตั้งตัว และรวดเร็วขนาดไหน
ต้องขอขอบคุณคุณแม่ที่แชร์เรื่องราว จะได้สร้างการตระหนักรู้ของพ่อแม่คนอื่นๆด้วยนะคะ
อย่างไรก็ตาม หมอก็พูดคำเดิมว่า อยากให้ตระหนัก แต่ก็ไม่อยากให้ตระหนก มันมีหลายคำในข่าว ที่อาจจะทำให้พ่อแม่ที่อ่านข่าว panic เช่น ติดเชื้อไวรัสทางอากาศ จะว่าผิดก็ไม่ผิด แต่ ก็ไม่ถูกซะทีเดียว
ในฐานะหมอเด็กที่ดูแลผู้ป่วยเด็กในภาวะวิกฤตมานาน หมออยากเขียนถึง โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส เพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์กับพ่อแม่ที่ได้เข้ามาอ่าน ดังนี้
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบคืออะไร?
หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจทำงานด้วยระบบไฟฟ้าของหัวใจ ที่แทรกอยู่ในผนังห้องหัวใจทั้ง 4 ห้อง การทำงานนี้เป็นการทำงานกึ่งอัตโนมัติ เราไม่สามารถใช้ความคิดควบคุมให้หัวใจเต้นเร็ว เต้นช้าได้ เพราะหัวใจจะเต้นเพื่อสูบฉีดเลือดในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย และตามที่ระบบประสาทอัตโนมัติตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก
ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตัวเราเองก็คิด ควบคุมการทำงานเองไม่ได้ แถมงานที่ว่า จำเป็นต่อชีวิตเราเสียด้วย ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน เจอได้น้อย แต่หากเจอ เป็นภาวะที่รุนแรง เป็นภาวะที่กุมารแพทย์ทุกคนอธิษฐานว่า อย่าเจอคนไข้โรคนี้เลย เพราะอัตราการตายสูงมาก
ตอนสมัยหมอเรียนแพทย์ อาจารย์สอนเรื่องพยากรณ์โรค เป็นตัวเลขที่พวกเราจำง่าย แต่ไม่อยากให้เกิดกับเด็กคนไหนเลย
1/3 ตาย
1/3 ไม่ตาย แต่จะมีกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติหลังจากนั้น ซึ่งอาจจะหมายถึงกล้ามเนื้อหัวใจพิการตลอดชีวิต
1/3 หาย เป็นเคสที่ไม่รุนแรง หรือเป็นน้อยมาก
เหล่านี้เป็นตัวเลขคร่าวๆ แต่ละงานวิจัยก็จะได้ไม่เท่ากัน ส่วนการวินิจฉัย ก็ยากมาก อาการนำ ก็เหมือนเป็นหวัดธรรมดา แต่หลังจากนั้น เด็กก็จะมีอาการหลากหลาย ซึ่งมาจากการตอบสนองต่อการที่หัวใจเริ่มบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้ไม่เพียงพอ
อาการรวมถึงอาจจะ งอแง ไม่กินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ซึม ไม่เล่น/เล่นน้อยลง ไอ หายใจเหนื่อย ใจสั่น อาจจะมีหัวใจเต้นเร็ว เต้นช้า เต้นผิดจังหวะ ก็ได้ขึ้นอยู่กับอักเสบมากน้อยแค่ไหน
ถ้าเด็กโตหน่อย อาจจะพอบอกได้ ว่ารู้สึกยังไง เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อย ถ้าอาการดำเนินต่อไปจนกระทั่งมีภาวะหัวใจล้มเหลว ก็อาจจะมีหายใจหอบเหนื่อย เพลียมาก ให้เห็น นี่คือ อาการแสดงที่พ่อแม่อาจจะเห็นว่าลูกเป็น แต่สิ่งที่หมอตรวจพบก็มีหลากหลายขึ้นกับความรุนแรงของภาวะอักเสบ
ซึ่งโรคนี้มามาช้านาน แต่เมื่อเราไม่มี social media ข่าวไม่ได้แพร่กระจายเหมือนยุคปัจจุบัน
สาเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็ก หลักๆ 2 อย่าง
■ จากการติดเชื้อ
■ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
หมอจะเน้นที่การติดเชื้อ เชื้อทุกอย่างทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ (ไวรัส แบคทีเรีย รา ปรสิตร พยาธิ) แต่ในเด็ก เชื้อไวรัสจะเป็นสาเหตุหลัก ถ้าถามว่าเชื้อไวรัสตัวไหนกันล่ะ ? พูดได้เลยว่า "บอกยาก" เพราะเคสที่รุนแรงจนเสียชีวิต บางครั้งเราไม่ได้ทำ autopsy (ตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจหลังเสียชีวิต)
หมอขอยกข้อมูล ที่มีรายงานในงานวิจัยที่เคยรวบรวมไว้ เช่น adenovirus, enterovirus (**โดยเฉพาะ Enterovirus 71 ที่มีวัคซีนแล้ว) กลุ่ม Herpes viruses, HIV, ไวรัสไข้หวัดใหญ่, RSV, corona virus COVID19 เป็นต้น
สรุป ไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจเกือบทุกตัว ก็มีโอกาสทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้หมด
ดังนั้น เราแทบจะป้องกันไม่ให้เหตุมาเกิดกับลูกเราแบบ 100% ไม่ได้เลย เพราะอย่างไรเสีย เด็กๆ ก็ต้องเจ็บป่วย เป็นหวัด เราก็ป้องกันได้ เท่าที่เราทำได้เท่านั้น
เด็กทุกคน "ต้อง" ติดเชื้อทางเดินหายใจอยู่แล้ว เด็กทุกคนต้องเคยเป็นหวัด เด็กทุกคนต้องเคยติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ทางวิทยาศาสตร์ก็ยังพิสูจน์แน่ชัดไม่ได้ว่ากระบวนการเกิด มันมีความเสี่ยงอะไรบ้าง รู้แต่เชื้อไวรัสไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งในแต่ละคน ก็ถูกกระตุ้นและตอบสนองได้ไม่เหมือนกัน มีทั้งส่วนที่ไวรัส ทำร้ายเซลล์หัวใจเราโดยตรง หรือ เกิดจากเมื่อร่างกายติดเชื้อไวรัส แล้วกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบ สารการอักเสบพวกนี้มาทำร้ายเซลล์หัวใจอีกที
ทำไมหมอบอกว่าไวรัสมากับอากาศ
คำนี้ ฟังแล้วน่ากลัวจริงๆเหมือนแค่เด็กหายใจเอาอากาศเข้สไป ก็อาจจะติดเชื้อ และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พ่อแม่ชอบถามหมอว่า "เชื้อมาจากไหนคะ" เวลาหมอแจ้งว่าลูกติดเชื้อ
ในกรณีนี้ คุณหมอที่ดูแลเคสน้องไดอาน่า ก็คงจะตอบลำบาก เพราะมนุษย์ต่อสู้กับสิ่งที่ตาเรามองไม่เห็น หมอผู้รักษาเอง ก็คงไม่รู้ว่า ไปติดเชื้อมาได้ยังไง เชื้อตัวไหน....ก็คงตอบรวมๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสที่เริ่มต้นจากการติดที่ทางเดินหายใจเป็นหลัก
ซึ่งรับเชื้อได้ทาง
◇สูดเอาละอองฝอยที่ปนเปื้อนเชื้อของคนที่มีเชื้อมาเข้าร่างกาย
◇ไปสัมผัสกะบสิ่งที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วย แล้วเอามือมาเข้าปาก หรือขยี้ตา เป็นต้น
การบอกว่า เชื้ออยู่ในอากาศ คงเป็นการตอบรวมๆว่า มันอยู่รอบๆตัวเรา แต่มิใช่เดินไป แล้วเชื้อล่องลอยในอากาศ แบบนั้นค่ะ
การป้องกัน
ทำให้สุขภาพลูก แข็งแรง กินอาหารดีๆ กินผักผลไม้ให้มาก งดกินอาหารแปรรูป ออกกำลังกาย และป้องกันการติดเชื้อ โดยการสอนล้างมือ สอนให้ไอให้ถูกต้อง ใส่หน้ากาก
หยุดไปเรียนหากมีอาการเจ็บป่วยเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ และแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ ใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็น เพราะแบคทีเรียตัวดีในลำไส้เป็นส่วนหนึ่งของภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของมนุษย์
ฉีดวัคซีน เมื่อไหร่จะซื้อของเล่น ให้ฮึบไว้ แล้วเก็บเงินไปซื้อวัคซีนแทน ถึงวัคซีนหลายโรคจะไม่กันติด แต่อย่างน้อยก็ผ่อนหนักเป็นเบา
ท้ายที่สุดคือ เราต้องให้ลูกได้ใช้ชีวิต เดินทางสายกลางค่ะ เด็กยังต้องป่วยไข้เป็นเรื่อง เลี้ยงสะอาดเกินไป ภูมิคุ้มกันในร่างกายก็อ่อนแอ เลี้ยงสกปรกเกินไป ก็เป็นการชักนำให้ลูกติดเชื้อ
ที่มา: เพจ หมอแพมชวนอ่าน
ข่าวแนะนำ