TNN ชวนทำ "Dry January" ชาเลนจ์ มกราฯงดดื่ม ฟื้นร่างกาย

TNN

Health

ชวนทำ "Dry January" ชาเลนจ์ มกราฯงดดื่ม ฟื้นร่างกาย

ชวนทำ Dry January ชาเลนจ์ มกราฯงดดื่ม ฟื้นร่างกาย

ชวนทำชาเลนจ์ฟื้นฟูร่างกายหลังผ่านปาร์ตีสุดเหวี่ยงช่วงปีใหม่ กับ "Dry January" ชาเลนจ์ เดือนมกราคมงดดื่ม เพื่อสุขภาพ

ถ้าบ้านเรามีงดเหล้าเข้าพรรษา กินเวลา 3 เดือน ที่ฝั่งตะวันตกก็มีชาเลนจ์งดดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ที่ทำกันทุกปีในช่วงเดือนมกราคม หลังจากที่เฉลิมฉลองมาอย่างหนักในเดือนธันวาคม  เรียกว่า Dry January หรือ เดือนมกราคมแห้ง โดยในหลายประเทศรณรงค์เป็นแคมเปญสุขภาพ ให้คนงดเว้นจากการดื่มเหล้า 1 เดือน


บทความ “The Science of Dry January” โดยนายแพทย์ Michael Apstein ได้ระบุว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ จะสามารถเผาผลาญแอลกอฮอล์ในร่างกายเพราะเอมไซม์ที่มีหน้าที่ย่อยแอลกอฮอล์ในตับจะมีมากกว่าคนที่ดื่มเป็นครั้งคราว นั่นทำให้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดต่ำกว่าอีกด้วย แม้จะดื่มในปริมาณเท่า ๆ กันกับคนที่ดื่มเป็นครั้งคราว


แต่การดื่มอย่างหนักหน่วงในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะการเฉลิมฉลองวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งพ่วงคู่มากับการพักผ่อนน้อยและไม่มีเวลาให้ร่างกายได้พักฟื้น ย่อมส่งผลต่อรับบเผาผลาญ และการทำงานของตับที่มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเร่งขับแอลกอฮอล์และสารพิษออกจากร่างกาย 


ชาเลนจ์ Dry January จึงมาด้วยเชื่อที่ว่า การมีช่วงเวลาให้ร่างกายได้เว้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ร่างกายได้พักผ่อน ฟื้นฟูระบบเผาผลาญ พฤติกรรมการเลือกทานอาหารและวงจรการนอนหลับก็จะดีขึ้นด้วย 


แนวคิดดังกล่าวเริ่มมาจากการรณรงค์ชื่อ Dry January หรือ เดือนมกราที่ไร้แอลกอฮอล์ ในอังกฤษเมื่อปี 2012 โดยนักวิ่งมาราธอนหญิงคนหนึ่งที่ตัดสินใจงดดื่มของมึนเมาเป็นเวลาหนึ่งเดือน หลังจากนั้นเธอก็ได้เริ่มงานกับองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับแอลกอฮอล์แห่งหนึ่งชื่อ Alcohol Change UK ซึ่งได้ขยายผลเรื่องนี้สู่ระดับชาติและสู่ระดับโลกในที่สุด


ในปี 2566 มีผู้คนอย่างน้อย 175,000 คนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ Dry January  บนเว็บไซต์ Alcohol Change UK และในปีเดียวกันนี้ ชาวอเมริกัน 15% หรือมากกว่า 260 ล้านคน ได้ให้คำมั่นที่จะเข้าร่วมโครงการ Dry January


แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงที่การบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้น ระหว่างปี 2533 ถึง 2560 ข้อมูลจากการศึกษา ชี้ว่า ก่อนแคมเปญ dry January ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นกว่า 70% 


องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีระดับใดที่ดีต่อสุขภาพ และจัดให้แอลกอฮอล์เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด อยู่ในกลุ่มเดียวกับแร่ใยหิน กัมมันตรังสี และยาสูบ


ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ยังระบุว่า การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้ในสหรัฐอเมริกา


โดยปัจจุบัน Dry January ก็กลายเป็นปณิธานอย่างหนึ่งสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นใหม่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 


อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญการบำบัดการติดสุราจะบอกว่า การบังคับตัวเองให้ไม่แตะต้องของมึนเมาหรือ Dry เป็นเวลาเพียงหนึ่งเดือนนั้นอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในระยะยาว หรืออาจจบลงด้วย Heavy Febuary หรือ เดือนกุมภาเมาหัวราน้ำ ก็เป็นเรื่องที่บางคนกังวลก็ตาม

ข่าวแนะนำ