สปาปลาจะใช้บริการต้องระวังมีแผลที่เท้าอาจติดเชื้อวัณโรคเทียม
จากกรณีที่ กรมอนามัย สั่งปิดคาเฟ่ปลาคราฟแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีเนื่องจากผิด พ.ร.บ.สาธารณสุข อาจเข้าข่ายเป็นแหล่งก่อสิ่งสกปรก
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนวิจัยวัณโรค ดื้อยา ศิริราชมูลนิธิในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “สปาปลาถือเป็นแฟชั่น เป็นของแปลกใหม่ที่ใคร ๆ ก็อยากลอง แต่ก็ต้องตระหนักถึงอันตรายของมันด้วย 15 รัฐในสหรัฐอเมริกา ได้มีการสั่งห้ามไม่ให้มีการเปิดสปาปลา เพราะไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย และมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโรคจากการใช้บริการสปาปลาได้ โดยเฉพาะโรควัณโรคเทียมที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังในคนได้ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาหายได้ยากและต้องใช้เงินในการรักษาเป็นจำนวนมาก”
วัณโรคเทียม เป็นโรคที่ไม่ติดต่อระหว่างคนต่อคน เหมือนกับวัณโรคปอด ยกเว้นมีแผล เป็นโรคที่ทนต่อคลอรีน ทำให้เกิดแผลบริเวณผิวหนัง ตุ่มหนอง เรื้อรังไม่หาย นอกจากเชื้อวัณโรคเทียมแล้ว ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย จากการแช่เท้าอยู่ร่วมกันในอ่างปลา โดยมีน้ำเป็นตัวนำพา และการที่ปลาตอดคนโน้นทีคนนี้ที ก็สามารถเป็นพาหะนำโรคได้เช่นกัน ดังนั้นก่อนใช้บริการสปาปลา ต้องตรวจสอบให้ดีว่ามีแผลที่เท้า เพิ่งโกนหน้าแข้ง หรือเพิ่งจะตัดเล็บเท้ามาหรือไม่ เพราะแผลเพียงเล็กน้อย แบบแทบจะมองไม่เห็น เชื้อโรคก็สามารถเข้าไปได้
กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า วัณโรคเทียม มีการกระจายตัวอยู่ในธรรมชาติสูงทั้งในดิน น้ำ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในคนได้ คนที่มีปอดปกติเมื่อหายใจเอาเชื้อวัณโรคเทียมเข้าไป จะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่คนที่มีโรคปอดอยู่แล้ว หรือโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้สูงอายุ ผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค โดยการติดเชื้อนี้จะมีผลต่อการเกิดโรคที่บริเวณปอด ต่อมน้ำเหลือง หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งผิวหนัง
อาการวัณโรคเทียม
สำหรับผู้ป่วยวัณโรคเทียม จะมีอาการคล้ายผู้ป่วยวัณโรคเนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้ ไอเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยง่าย เสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกในตอนกลางคืน อ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังพบอาการอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ หรือขาหนีบ ผื่นผิวหนัง ฝี หรือแผลเรื้อรัง เป็นต้น
หากสังเกตตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้ หรือสงสัยว่าตนเองป่วยวัณโรค ควรรีบไปตรวจหาการป่วยเป็นวัณโรคโดยเร็ว ด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ ณ โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน ทั้งนี้ เราสามารถป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
วัณโรค โรคร้ายที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด “รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย” ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค โทร. 02 212 2279 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ข่าวแนะนำ